ประกาศเตือน 9 จังหวัดภาคใต้ เฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก

ประกาศเตือน 9 จังหวัดภาคใต้ เฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก

กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก.) โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ได้ติดตามสภาวะอากาศและพิจารณาปัจจัยเสี่ยง ประกอบกับ กรมอุตุนิยมวิทยา ได้มีประกาศฉบับที่ 1 (288/2565) ลงวันที่ 16 ตุลาคม 2565 เวลา 17.00 น. แจ้งว่า พายุโซนร้อนกำลังแรง เนสาท มีศูนย์กลางอยู่บริเวณทะเลจีนใต้ตอนบน จะเคลื่อนเข้าใกล้ชายฝั่งสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนามตอนบน ในช่วงวันที่ 19 - 20 ตุลาคม 2565 ในขณะที่บริเวณความกดอากาศสูงกำลังค่อนข้างแรงจากสาธารณรัฐประชาชนจีน ยังคงปกคลุมประเทศไทยตอนบนและทะเลจีนใต้ ทำให้พายุจะอ่อนกำลังลงตามลำดับอย่างรวดเร็ว และในช่วงวันที่ 17 - 21 ตุลาคม 2565 ลมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามันและภาคใต้จะมีกำลังแรงขึ้น ทำให้มีฝนตกหนักถึงหนักมากบริเวณภาคใต้

สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยจะมีกำลังแรงขึ้น โดยทะเลอันดามันมีคลื่นสูง 2-3 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองมีคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร ส่วนอ่าวไทยตอนล่าง ห่างฝั่งมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร และกองอำนวยการน้ำแห่งชาติได้มีประกาศฉบับที่ 51/2565 ลงวันที่ 16 ตุลาคม 2565 ให้เฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลากในพื้นที่ภาคใต้

โดยมีพื้นที่เฝ้าระวังสถานการณ์ระหว่างวันที่ 17 - 22 ตุลาคม 2565 ดังนี้

พื้นที่เฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก

จังหวัดชุมพร (อำเภอเมืองฯ หลังสวน ละแม สวี และพะโต๊ะ) สุราษฎร์ธานี (อำเภอพระแสง ท่าฉาง คีรีรัฐนิคม ท่าชนะ บ้านนาสาร ไชยา พนม พุนพิน เกาะสมุย และเกาะพะงัน) นครศรีธรรมราช (อำเภอเมืองฯ ท่าศาลา และปากพนัง) ระนอง (ทุกอำเภอ) พังงา (อำเภอเมืองฯ กะปง ท้ายเหมือง ตะกั่วป่า ทับปุด และตะกั่วทุ่ง) ภูเก็ต (ทุกอำเภอ) กระบี่ (อำเภออ่าวลึก) ตรัง (อำเภอห้วยยอด ปะเหลียน ย่านตาขาว) และสตูล (อำเภอเมืองฯ)

พื้นที่เฝ้าระวังคลื่นลมแรง

จังหวัดระนอง (อำเภอเมืองฯ สุขสำราญ กะเปอร์) พังงา (อำเภอเมืองฯ เกาะยาว ทับปุด ตะกั่วทุ่ง ท้ายเหมือง ตะกั่วป่า คุระบุรี) ภูเก็ต (อ.ทุกอำเภอ) กระบี่ (อำเภอเมืองฯ คลองท่อม เกาะลันตา เหนือคลอง อ่าวลึก) ตรัง (อำเภอกันตัง สิเกา ปะเหลียน หาดสำราญ) และสตูล (อำเภอเมืองฯ ละงู มะนัง ทุ่งหว้า)

กอปภ.ก. จึงได้ประสาน 9 จังหวัดภาคใต้ ได้แก่ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง และสตูล รวมถึงศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขตในพื้นที่เสี่ยงภัย เตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์ภัยโดยติดตามสภาพอากาศและปริมาณฝนที่ตกในพื้นที่อย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีฝนตกหนักหรือฝนตกสะสมมากกว่า 90 มิลลิเมตร ในช่วงเวลา 24 ชั่วโมง ที่อาจส่งผลให้เกิดอุทกภัย และพื้นที่ที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดสถานการณ์น้ำป่าไหลหลาก

โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำ สำหรับสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติ โดยเฉพาะถ้ำ น้ำตก ถ้ำลอด หากมีฝนตกหนักมีความเสี่ยงที่จะเกิดภัย ให้ประกาศแจ้งเตือนและปิดกั้นพื้นที่ห้ามบุคคลใดเข้าพื้นที่ สำหรับพื้นที่เฝ้าระวังสถานการณ์คลื่นลมแรง ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องออกประกาศหรือติดตั้งสัญญาณการแจ้งเตือนประชาชนบริเวณชายฝั่งทะเล

โดยเฉพาะห้ามลงเล่นน้ำ และประกอบกิจกรรมทางทะเลด้วยความระมัดระวังในช่วงคลื่นลมแรง หากสถานการณ์ในพื้นที่มีแนวโน้มรุนแรงขึ้นให้จังหวัดพิจารณาห้ามการเดินเรือออกจากฝั่งโดยเด็ดขาด รวมถึงประสานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัย อีกทั้งจัดชุดเผชิญสถานการณ์วิกฤต (ERT) และนำเครื่องมือเครื่องจักรกลด้านสาธารณภัยเข้าประจำจุดเสี่ยงอันตรายและพื้นที่เสี่ยงภัยเพื่อให้พร้อมเผชิญเหตุและช่วยเหลือประชาชนทันทีตลอด 24 ชั่วโมง

ทั้งนี้ ได้เน้นย้ำทุกหน่วยงานดำเนินการตามแผนเผชิญเหตุอย่างเคร่งครัด สำหรับประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยให้ติดตามพยากรณ์อากาศและข้อมูลข่าวสารจากทางราชการอย่างใกล้ชิด ขอให้เตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์ภัยที่อาจเกิดขึ้นและปฏิบัติตามคำแนะนำจากเจ้าหน้าที่อย่างเคร่งครัด

:: ร่วมแสดงความคิดเห็นกับสิ่งนี้

:: เนื้อหาข่าวที่น่าสนใจ