เปิดประวัติ ขุนหลวงท้ายสระ แห่งอาณาจักรอยุธยาพรหมลิขิต
จากที่ละครเรื่อง พรหมลิขิต ที่กำลังมาแรงตอนนี้ ทำให้มีหลายๆคนที่สนใจประวัติศาสตร์ของไทยเพิ่มมาก และบทตัวละครอีกหนึ่งที่คนต่างอยากรู้เรื่องราวชีวิต คือ สมเด็จพระที่นั่งท้ายสระ หรือ สมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ 9 หรือ พระเจ้าภูมินทราชา หรือ พระเจ้าบรรยงก์รัตนาสน์ รับบทโดย เกรท-วรินทร ปัญหกาญจน์ พระเอกหนุ่มมากฝีมือที่มารับบทอันทรงเกียรตินี้ ในบทบาทตัวละคร ขุนหลวงท้ายสระ หรือ เจ้าฟ้าเพชร เป็นพระมหากษัตริย์ลำดับที่ 30 แห่งอาณาจักรอยุธยา และเป็นพระองค์ที่สามแห่งราชวงศ์บ้านพลูหลวง ราชวงศ์สุดท้ายของอาณาจักรอยุธยา ทรงครองราชย์ระหว่าง พ.ศ. 2251 - พ.ศ. 2275
ขุนหลวงท้ายสระ หรือ เจ้าฟ้าเพชร
สมเด็จพระที่นั่งท้ายสระ หรือ เจ้าฟ้าเพชร เป็นพระราชโอรสพระองค์ใหญ่ใน สมเด็จพระเจ้าสุริเยนทราธิบดี (สมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ 8 หรือ หลวงสรศักดิ์) กับพระอัครมเหสีสมเด็จพระพันวษา มีพระอนุชาและพระกนิษฐาร่วมพระมารดา 2 พระองค์ คือ เจ้าฟ้าพร (สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ หรือ สมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราชที่ 2) และเจ้าฟ้าหญิงไม่ทราบพระนาม
พระองค์ประสูติตั้งแต่พระราชบิดา (พระเจ้าเสือ) เป็นขุนนางในตำแหน่งออกหลวงสรศักดิ์ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ หลังจากพระอัยกา (พระเพทราชา) ทรงครองราชย์ และแต่งตั้งพระเจ้าเสือเป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคล (วังหน้า) ทำให้สมเด็จพระที่นั่งท้ายสระได้เป็นเชื้อพระวงศ์ และออกพระนามว่า สุรินทกุมาร ซึ่งที่มาของ สมเด็จพระที่นั่งท้ายสระ มาจากนามพระที่นั่งบรรยงก์รัตนาสน์ ซึ่งพระองค์ใช้เป็นประทับอันอยู่ข้างสระน้ำท้ายพระราชวัง พระองค์โปรดเสวยปลาตะเพียนมาก โดยออกพระราชกำหนดห้ามราษฎรจับหรือรับประทานปลาตะเพียน หากผู้ใดฝ่าฝืน มีบทลงโทษคือปรับเป็นเงิน 5 ตำลึง หรือ 20 บาท
ความโดดเด่นในยุคสมัย ในด้านการต่างประเทศ ได้มีการส่งราชทูตไปเจริญทางพระราชไมตรีกับประเทศจีน ทำให้การค้าขายระหว่างสยามกับจีนนั้นเพิ่มพูนขึ้น ยุคสมัยรัชกาลขุนหลวงท้ายสระ ทางจีนเกิดทุพภิกขภัยภาวะข้าวยากหมากแพงที่กวางตุ้งและฝูเจี้ยน ทำให้ต้องทำการสั่งซื้อข้าวจากไทย มีการค้าขายมากขึ้นจนไทยและจีนมีความสัมพันธ์โดดเด่นขึ้นมา
เมื่อพระราชบิดาสวรรคตในปี พ.ศ. 2251 จึงขึ้นครองราชย์ เฉลิมพระนามว่า พระเจ้าภูมินทราชา และด้วยความสนิทสนมปรองดองทรงสถาปนา เจ้าฟ้าพร (รับบทโดย เด่นคุณ งามเนตร) พระราชอนุชาเป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคล เปรียบเสมือนทายาทที่จะสืบต่อบัลลังก์ ซึ่งสมเด็จพระที่นั่งท้ายสระ ทรงมีพระราชโอรส 3 พระองค์ ได้แก่ เจ้าฟ้านเรนทร (กรมขุนสุเรนทรพิทักษ์), เจ้าฟ้าอภัย, เจ้าฟ้าชายปรเมศร์
ในยุคสมัยนั้น ถือว่าเป็นยุคบ้านเรือนสงบร่มเย็น แม้จะมีศึกภายนอกแต่ปราศจากศึกภายใน แต่หลังจาก สิ้นสมัยพระเจ้าท้ายสระ เจ้าฟ้าอภัย พระราชโอรสของพระเจ้าท้ายสระอ้างสิทธิในราชสมบัติ และเจ้าฟ้าปรเมศร์ได้สู้รบกับ เจ้าฟ้าพร พระอนุชาของพระเจ้าท้ายสระและวังหน้า พระเจ้าอาของเจ้าฟ้าอภัยกับเจ้าฟ้าปรเมศร์ เกิดการต่อสู้ระหว่างอาและหลานคือวังหน้าและวังหลวง ผลสุดท้ายฝั่งอาวังหน้าเป็นฝ่ายชนะ และขึ้นเป็นกษัตริย์มีนามว่าพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ได้ทำการกวาดล้างฝ่าย เจ้าฟ้าอภัย จนเกลี้ยงจนขาดกำลังคนและเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้อยุธยาอ่อนแอ
สงครามครั้งนี้กลายเป็นสงครามกลางเมืองภายในรุนแรงยาวนาน และเป็นจุดเริ่มต้นของสงครามกลางเมืองอีกหลายครั้ง จนนำมาสู่การเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2