ราชกิจจาฯประกาศ โค้ชเช ได้แปลงสัญชาติเป็นไทยแล้ว
เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2565 เว็บไซต์ ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้แปลงสัญชาติเป็นไทย จำนวน 175 ราย ความว่า
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ขอประกาศให้ทราบโดยทั่วกันว่า นาย ยอง ซอก เช หรือ โค้ชเช และอีก 174 ราย ได้ยื่นเรื่องขอแปลงสัญชาติเป็นไทย ตามพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ. 2508 แล้ว
ทั้งนี้ได้ยื่นเรื่องราวขอแปลงสัญชาติเป็นไทยตามพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ. 2508 ได้เห็นหลักฐานเป็นที่พอใจแล้วว่า ผู้ยื่นเรื่องได้ปฏิบัติถูกต้องตามบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ. 2508 จึงได้นำความกราบบังคมทูลขอพระราชทานพระบรมราชานุญาต
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานพระบรมราชานุญาต และผู้ยื่นเรื่องราวได้ปฏิญาณตนตามกฎหมายแล้ว
จึงขอประกาศให้ทราบทั่วกันว่า ผู้ที่กล่าวชื่อมาแล้วนั้นได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้แปลงสัญชาติเป็นไทยได้แล้ว
ประกาศ ณ วันที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2565 พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย
โค้ชเช หรือ ชัชชัย ชเว สร้างผลงานสำคัญ คือ นำทีมนักกีฬาเทควันโดทีมชาติไทย เข้าร่วมการแข่งขันในเอเชียนเกมส์และโอลิมปิกเกมส์ ได้รับเหรียญรางวัลมากมายอย่างต่อเนื่อง อาทิ
- พานักกีฬา พาณิภัค วงศ์พัฒนกิจ ได้เหรียญทอง (โตเกียว ค.ศ. 2020) และเหรียญทองแดง (รีโอ ค.ศ. 2016)
- เทวินทร์ หาญปราบ เหรียญเงินโอลิมปิกที่บราซิล ในปี ค.ศ. 2016
- บุตรี เผือดผ่อง เหรียญเงินโอลิมปิกที่จีน ในปี ค.ศ. 2008
- ชนาธิป ซ้อนขำ เหรียญทองแดงโอลิมปิกที่อังกฤษ ในปี ค.ศ. 2012 และเหรียญทองเอเชียนเกมส์ที่กว่างโจว ในปี ค.ศ. 2010
- เยาวภา บุรพลชัย เหรียญทองแดงโอลิมปิกที่เอเธนส์ในปี ค.ศ. 2004
- สริตา ผ่องศรี และชัชวาล ขาวละออ เหรียญทองเอเชียนเกมส์ที่กว่างโจว
รวมถึงสร้างแชมป์โลกเทควันโดชาวไทยถึง 4 คน ได้แก่ รังสิญา นิสัยสม, ชัชวาล ขาวละออ, ชนาธิป ซ้อนขำ และพาณิภัค วงศ์พัฒนกิจ[1][2]
และจากผลงานในโอลิมปิก 2004 ทำให้ โค้ชเช ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่สรรเสริญยิ่งดิเรกคุณาภรณ์ ชั้นที่ 4 จตุตถดิเรกคุณาภรณ์ เมื่อวันที่ 19 ก.พ. 2550 ที่กระทรวงการต่างประเทศ