คนเมืองเชียงใหม่หวั่นอาเพศ หลังประตูช้างเผือก พังถล่ม
ความคืบหน้าเหตุประตูช้างเผือก หนึ่งในห้าประตูเมืองโบราณอายุกว่า 700 ปี พังถล่มลงมา สร้างความไม่สบายใจให้กับชาวเชียงใหม่เพราะไม่เคยเกิดเหตุการณ์แบบนี้มาก่อน หลายคนกัววลใจกลัวว่าจะเป็น ขึด หรืออาเพศบ้านอาเพศเมือง ขณะที่สำนักศิลปากรที่ 7 เชียงใหม่ ระบุสาเหตุจากฝนตกหนักสะสมทำให้น้ำซึมเข้าแกนด้านในจนดินอ่อนตัวเกิดพังถล่ม
ล่าสุดในวันนี้ (26 ก.ย.65 ) บริเวณประตูช้างเผือกทั้งสองด้านซ้ายและขวา ถูกปิดกั้นห้ามบุคคลไม้เกี่ยวข้องเข้าไปในพื้นที่เพื่อป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้น หลังจากยังมีฝนตกหนักต่อเนื่อง โดยแนวประตูฝั่งขวาที่พังถล่ม เจ้าหน้าที่ศิลปากรที่ 7 เชียงใหม่ ได้ใช้ท่อนเหล็กและไม้สร้างแนวค้ำยัน หรือที่เรียกว่า รัดดามเฝือก เพื่อเสริมความมั่นคงไว้ชั่วคราวก่อนเข้าบูรณะซ่อมแซม ส่วนประตูฝั่งซ้ายมีการรัดดามเฝือกด้วยเช่นกัน หลังตรวจพบรอยร้าวในแนวดิ่งแบบเดียวกับประตูที่พังถล่มเสียหาย มีโอกาสที่จะพังถล่มเสียหายลงมาได้เช่นกัน หากมีฝนตกต่อเนื่อง เสี่ยงเกิดอันตรายกับผู้ใช้รถที่ผ่านไปบริเวณดังกล่าว ซึ่งในส่วนนี้จะมีการตรวจสอบความมั่นคงของโครงสร้างอย่างเร่งด่วน
นอกจากนี้ จะมีการสำรวจโครงสร้างและความมั่นคงของกำแพงเมืองเชียงใหม่ทั้งหมด หากจุดใดที่พบมีปัญหาก็จะต้องเสริมความแข็งแรง โดยทุกจุดจะคงรูปแบบเดิมตามประวัติศาสตร์
ส่วนกรณีที่ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ สุรพล ดำริห์กุล อดีตอาจารย์คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โพสต์แสดงความเห็นในเฟซบุ๊ก สุรพล ดำริห์กุล ระบุว่า ประตูช้างเผือกไม่ใช่โบราณสถาน แต่เป็นสิ่งก่อสร้างใหม่ ประตูช้างเผือกไม่ใช่โบราณสถาน แต่เป็นสิ่งก่อสร้างใหม่ที่เป็นทัศนอุจาดบนที่ดินโบราณสถาน (พังเสียได้ก็ดี)
นอกจากนี้ยังบอกว่า ประตูเมืองเหล่านี้เป็นสิ่งแปลกปลอม ก่อสร้างขึ้นใหม่โดยการออกแบบอย่างน่าเกลียดน่าชัง เพราะมันไม่ใช่ลักษณะและแบบแผนของประตูเมืองที่เป็นสากล โดยข้อเท็จจริงประตูเมืองเชียงใหม่ที่เห็นในปัจจุบัน ล้วนเป็นสิ่งสร้างใหม่ทั้งสิ้น ทั้งนี้เพราะประตูเมืองของเมืองโบราณเชียงใหม่ถูกไถทำลายไปหมดแล้ว และยังทิ้งท้ายด้วยคำภาวนาขอให้ประตูเมืองอุจาดสร้างใหม่ที่เหลืออยู่อีก 3 ประตู พังทลายลงให้หมด เสียได้ก็ดีครับ
เกี่ยวกับเรื่องนี้ นายเทอดศักดิ์ เย็นจุระ ผู้อำนวยการกลุ่มอนุรักษ์โบราณสถาน สำนักศิลปากรที่ 7 เชียงใหม่ บอกว่า แนวกำแพงเมืองและประตูเมืองเชียงใหม่ทั้งหมดขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน แม้จะมีบางส่วนที่ก่อสร้างขั้นมาใหม่เป็นของใหม่แต่ก็ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของโบราณสถานดั้งเดิมที่ไม่ได้แยกออกจากกัน โบราณสถานไม่ได้แยกแยกของเก่าดั้งเดิมหรือของใหม่ออกจากกัน แต่มีเรื่องของความเป็นหนึ่งเดียว ความรู้สึกและความผูกพันของคนในพื้นที่ นั่นคือชาวเชียงใหม่ที่เป็นเจ้าของสถานที่ ในการบูรณะซ่อมแซม หากจะทำให้กลับไปเป็นรูปแบบเดิมก็สามารถทำได้ แต่รูปลักษณะก็จะเปลี่ยนไป ทั้งประตูที่แคบลงเหมือนประตูท่าแพ ซึ่งทั้งหมดก็ขึ้นอยู่กับชาวเชียงใหม่