กรมอุตุฯ เฝ้าติดตามสถานการณ์ พายุไต้ฝุ่น โนรู เตรียมรับมือฝนถล่มหนัก
วันนี้ (26 ก.ย65.) นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือ ดีอีเอส เป็นประธานเปิดศูนย์อำนวยการติดตามสถานการณ์ พายุไต้ฝุ่น โนรู (NORU) เพื่อติดตาม ประเมิน และรายงานสถานการณ์พายุ พร้อม กล่าวว่า การทำงานของศูนย์อำนวยการฯ จะมีการ Conference กับสถานีอุตุนิยมวิทยาที่ตั้งอยู่ในจังหวัดที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบ หรือบริเวณที่พายุจะเคลื่อนผ่าน จะร่วมกันประเมินสถานการณ์ของพายุ และหากมีความรุนแรงจะมีการสั่งการให้ตรวจวัดสภาพอากาศและปริมาณฝนให้ถี่ขึ้นในพื้นที่ที่จะได้รับผลกระทบ ทั้งนี้ เพื่อจะได้ข้อมูลช่วยในการประเมินสถานการณ์
ดร.ชมภารี ชมภูรัตน์ อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา กล่าวว่า เมื่อเวลา 07.00 น. ของวันนี้ (26 ก.ย. 2565) พายุไต้ฝุ่น โนรู บริเวณทะเลจีนใต้ตอนกลาง มีศูนย์กลางอยู่ที่ละติจูด 16.2 องศาเหนือ ลองจิจูด 118.4 องศาตะวันออก มีความเร็วลมสูงสุดใกล้ศูนย์กลางประมาณ 130 กิโลเมตรต่อชั่วโมง พายุนี้กำลังเคลื่อนตัวทางทิศตะวันตก ด้วยความเร็วประมาณ 25 กิโลเมตรต่อชั่วโมง จะเคลื่อนขึ้นฝั่งบริเวณประเทศเวียดนามตอนกลางในวันที่ 28 กันยายน 2565 คาดว่าพายุนี้จะอ่อนกำลังลงเป็นพายุโซนร้อนก่อนเข้าสู่ประเทศไทยในช่วงเช้ามืดของวันที่ 29 ก.ย. ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย จะมีกำลังแรงขึ้น ลักษณะเช่นนี้ทำให้ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง
รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ภาคตะวันออก และภาคใต้ มีฝนตกหนักหลายพื้นที่และมีฝนตกหนักมาก บางแห่งกับมีลมแรงในช่วงวันที่ 28 กันยายน - 1 ตุลาคม 2565 ขอให้ประชาชนในบริเวณดังกล่าวระวังอันตรายจากฝนตกหนักถึงหนักมากและฝนที่ตกสะสม ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่มไว้ด้วย
นายธนะสิทธิ์ เอี่ยมอนันต์ชัย รองอธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา กล่าวว่า พายุจะเคลื่อนเข้าไทยในวันที่ 28 กันยายนโดยจังหวัดที่ได้รับผลกระทบเป็นด่านแรกคือจังหวัดอุบลราชธานีรวมถึงอีสานล่างและภาคตะวันออกของไทย จากนั้นวันที่ 29 กันยายนพายุจะเคลื่อนเข้าสู่ตอนกลางของประเทศและวันที่ 30 กันยายนจะเคลื่อนขึ้นสู่ภาคเหนือก่อนจะออกนอกประเทศไทยไป แต่ก็ยังคงมีฝนตกต่อเนื่องเพราะอิทธิพลจากร่องมรสุม
สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและ อ่าวไทยจะมีกำลังแรงขึ้น โดยทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบนมีคลื่นสูง 2-3 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร ส่วนบริเวณอ่าวไทยตอนล่างทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ขอให้ชาวเรือในบริเวณดังกล่าวเดินเรือด้วยความระมัดระวัง