เฮทั่วประเทศ 1 ต.ค. 65 ปรับค่าแรงขั้นต่ำ 77 จังหวัด จังหวัดไหนได้เท่าไร เช็กเลย
จากกรณีที่กระทรวงแรงงาน มีการจัดตั้งคณะกรรมการค่าจ้างเพื่อประชุมและหารือเรื่องการปรับขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ประจำปี 2565 กระทั่งมีมติที่ประชุมออกมา กำหนดให้มีการปรับขึ้นค่าแรงแบ่งเป็น 9 อัตรา ตั้งแต่ 328 - 354 บาท โดยเตรียมนำเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อให้พิจารณาเห็นชอบ
ล่าสุด วันที่ 13 กันยายน 2565 นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกรัฐบาล รายงานมติที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบการปรับขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำประจำปี 2565 ตามที่กระทรวงแรงงาน และคณะกรรมการค่าจ้าง พิจารณาและเสนอ
โดยปรับขึ้นในอัตรา 8-22 บาทต่อวัน ค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 337 บาท ค่าแรงเพิ่มขึ้นคิดเป็น 5.02 เปอร์เซ็นต์ กำหนดการปรับขึ้นค่าแรงแบ่งเป็น 9 อัตรา รวมทั้งหมด 77 จังหวัด มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2565 เป็นต้นไป มีรายละเอียดดังต่อไปนี้
การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ ปี 2565
1. อัตรา 354 บาท มี 3 จังหวัด ได้แก่
- ชลบุรี (อัตราเดิม 336 บาท)
- ระยอง (อัตราเดิม 335 บาท)
- ภูเก็ต (อัตราเดิม 336 บาท)
2. อัตรา 353 บาท (อัตราเดิม 331 บาท) มี 6 จังหวัด ได้แก่
- กรุงเทพมหานคร
- นนทบุรี
- นครปฐม
- ปทุมธานี
- สมุทรปราการ
- สมุทรสาคร
3. อัตรา 345 บาท (อัตราเดิม 330 บาท) มี 1 จังหวัด ได้แก่
- ฉะเชิงเทรา
4. อัตรา 343 บาท (อัตราเดิม 325 บาท) มี 1 จังหวัด ได้แก่
- พระนครศรีอยุธยา
5. อัตรา 340 บาท มี 14 จังหวัด ได้แก่
- ปราจีนบุรี (อัตราเดิม 324 บาท)
- หนองคาย (อัตราเดิม 325 บาท)
- อุบลราชธานี (อัตราเดิม 325 บาท)
- พังงา (อัตราเดิม 325 บาท)
- กระบี่ (อัตราเดิม 325 บาท)
- ตราด (อัตราเดิม 325 บาท)
- ขอนแก่น (อัตราเดิม 325 บาท)
- เชียงใหม่ (อัตราเดิม 325 บาท)
- สุพรรณบุรี (อัตราเดิม 325 บาท)
- สงขลา (อัตราเดิม 325 บาท)
- สุราษฎร์ธานี (อัตราเดิม 325 บาท)
- นครราชสีมา (อัตราเดิม 325 บาท)
- ลพบุรี (อัตราเดิม 325 บาท)
- สระบุรี (อัตราเดิม 325 บาท)
6. อัตรา 338 บาท (อัตราเดิม 323 บาท) มี 6 จังหวัด ได้แก่
- มุกดาหาร
- กาฬสินธุ์
- สกลนคร
- สมุทรสงคราม
- จันทบุรี
- นครนายก
7. อัตรา 335 บาท (อัตราเดิม 320 บาท) มี 19 จังหวัด ได้แก่
- เพชรบูรณ์
- กาญจนบุรี
- บึงกาฬ
- ชัยนาท
- นครพนม
- พะเยา
- สุรินทร์
- ยโสธร
- ร้อยเอ็ด
- เลย
- พัทลุง
- อุตรดิตถ์
- นครสวรรค์
- ประจวบคีรีขันธ์
- พิษณุโลก
- อ่างทอง
- สระแก้ว
- บุรีรัมย์
- เพชรบุรี
8. อัตรา 332 บาท (อัตราเดิม 315 บาท) มี 22 จังหวัด ได้แก่
- อำนาจเจริญ
- แม่ฮ่องสอน
- เชียงราย
- ตรัง
- ศรีสะเกษ
- หนองบัวลำภู
- อุทัยธานี
- ลำปาง
- ลำพูน
- ชุมพร
- มหาสารคาม
- สิงห์บุรี
- สตูล
- แพร่
- สุโขทัย
- กำแพงเพชร
- ราชบุรี
- ตาก
- นครศรีธรรมราช
- ชัยภูมิ
- ระนอง
- พิจิตร
9. อัตรา 328 บาท มี 5 จังหวัด ได้แก่
- ยะลา (อัตราเดิม 313 บาท)
- ปัตตานี (อัตราเดิม 313 บาท)
- นราธิวาส (อัตราเดิม 313 บาท)
- น่าน (อัตราเดิม 320 บาท)
- อุดรธานี (อัตราเดิม 320 บาท)
สำหรับการปรับขึ้นค่าจ้างครั้งนี้ คณะกรรมการค่าจ้าง ได้แต่งตั้งอนุกรรมการค่าจ้างทั้งหมด 77 คณะ เพื่อรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับค่าจ้างและแรงงานใน 77 จังหวัด ทั้งนี้ คณะกรรมการค่าจ้าง ได้คำนึงถึงดัชนีค่าครองชีพ อัตราเงินเฟ้อ มาตรฐานการของชีพ ต้นทุนการผลิต ราคาของสินค้าและบริการ ความสามารถของธุรกิจ คุณภาพของแรงงาน และผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศหรือ GDP รวมถึงสภาพทางเศรษฐกิจและสังคม
นอกจากนี้ การพิจารณาอยู่บนพื้นฐานของความเสมอภาคและรับฟังความคิดเห็นของทุกฝ่าย ซึ่งผลการพิจารณาเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย นายจ้างยังสามารถประกอบธุรกิจอยู่ได้ ส่วนลูกจ้างก็สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างเป็นสุข โดยเชื่อมั่นว่าจะไม่เป็นอุปสรรคต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ หรือมีผลทำให้ราคาสินค้าและอัตราเงินเฟ้อปรับตัวสูงขึ้น จนกระทั่งกระทบต่อภาวะครองชีพของประชาชนโดยทั่วไป