ผู้จัดการแบงก์ ตกเป็นเหยื่อคอลเซ็นเตอร์ สูญ 1.3 ล้านในวันเดียว
วันที่ 1 กันยายน 2565 รายการเรื่องเล่าเช้านี้ ช่อง 3 รายงานว่า วานนี้ (31 สิงหาคม) นางสาวเอ (นามสมมติ) อายุ 40 ปี ผู้จัดการธนาคาร เดินทางเข้าร้องเรียนขอความเป็นธรรมกับ นายรณณรงค์ แก้วเพชร ทนายความชื่อดัง เพื่อขอให้ช่วยเหลือ หลังตกเป็นเหยื่อแก๊งคอลเซ็นเตอร์ หลังทำเรื่องกู้เงินไว้ ก่อนจะมีมิจฉาชีพแฝงตัวอ้างว่ามาจ้างธนาคารแห่งหนึ่งเสนอให้กู้เงิน แต่สุดท้ายถูกหลอกให้โอนเงินไปจำนวน 7 ครั้ง ภายในวันเดียว สูญเงินไปทั้งสิ้น 1,360,000 บาท
นางสาวเอ เล่าว่า ตนทำเรื่องกรอกแบบฟอร์มกับธนาคารแห่งหนึ่งไว้ เพราะต้องการกู้เงินจำนวน 555,000 บาท นำมาช่วยน้าสาวที่ต้องการใช้เงินไปลงทุน ระหว่างที่กรอกประมาณ 3-4 วัน มี LINE ทักมา แจ้งว่ามีสินเชื่อส่วนบุคคลให้ทำการสมัครลิงก์ ตนจึงกรอกแบบฟอร์มสมัครไป
ไม่ถึง 24 ชั่วโมง มีคนติดต่อเข้ามา แจ้งว่าอนุมัติวงเงิน 500,000 บาท บอกว่าเป็นสินเชื่อส่วนบุคคล ไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน เนื่องจากตนเป็นลูกค้าใหม่จะต้องกันวงเงิน ไว้ 11% ของวงเงินกู้เท่ากับ 55,000 บาท ให้โอนเข้ามาในบัญชีเพื่อล็อกวงเงินไว้ โดยตนโอนเงินไปทั้งหมด 7 ครั้ง
- ครั้งที่ 1 เวลา 11.32 น. จำนวน 55,000 บาท เป็นการกันวงเงิน 11%
- ครั้งที่ 2 เวลา 12.17 น. จำนวน 150,000 บาท ทางบริษัทบอกว่าทำข้อมูลผิดต้องแก้ไขข้อมูล เสียค่าใช้จ่าย 150,000 บาท
- ครั้งที่ 3 เวลา 12.33 น. ให้โอนเงินให้อีก 150,000 บาท เนื่องจากโอนไป 150,000 บาท ครั้งที่แล้ว ไม่ได้ระบุในโน้ตความจำว่า ไว้สำหรับโอนเพื่ออะไร ให้โอนเพื่อแก้ไขข้อมูล
- ครั้งที่ 4 เวลา 12.53 น. จำนวนเงินคือ 185,000 บาท
- ครั้งที่ 5 เวลา 14.16 น. จำนวนเงิน 215,000 บาท
- ครั้งที่ 6 เวลา 15.09 น. จำนวนเงิน 255,000 บาท
- ครั้งที่ 7 เวลา 17.25 น. จำนวน 350,000 บาท เป็นรอบสุดท้าย เพื่อจะเติมเครดิตเข้าไป เพราะว่าเครดิตไม่พอ
- รวมแล้ว 1,360,000 บาท
ผู้เสียหาย ยอมรับว่า รู้สึกเสียใจมาก ไม่คิดว่าจะมาโดนหลอกแบบนี้ ทั้ง ๆ ที่เป็นถึงผู้จัดการแบงก์ ยอมรับว่า มิจฉาชีพแนบเนียนมาก มีทั้งหลักฐาน เอกสารที่น่าเชื่อถือ ทำให้ตกเป็นเหยื่อในครั้งนี้
ด้าน ทนายรณณรงค์ กล่าวว่า จากนี้ตนเตรียมสอบถามไปยังธนาคาร 2 ธนาคาร เนื่องจาก 3 วันก่อนหน้ามิจฉาชีพทักมา ผู้เสียหายไปกรอกแบบกู้เงินไว้กับ 2 ธนาคารดังกล่าว จึงสงสัยว่าทำไมมิจฉาชีพรู้ว่าเหยื่อต้องการจะใช้เงิน แล้วทักมาทางไลน์ได้ เพราะไม่ได้รู้จักกันทางเฟซบุ๊กด้วย ไม่รู้ว่าข้อมูลส่วนตัวเหยื่อหลุดไปได้อย่างไร เรื่องนี้จึงมองว่าธนาคารแห่งประเทศไทยต้องรับผิดชอบ
ส่วนเรื่องคดีจะแจ้งความข้อหาฉ้อโกง กับ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ และหากตำรวจสืบจากบัญชีที่โอนไป ถ้าสามารถตามไปถึงที่ทำการของแก๊งได้ ผู้เสียหายก็น่าจะได้เงินคืน สุดท้ายอยากเตือนภัยว่า ผู้จัดการธนาคารยังถูกหลอกได้ เพราะมิจฉาชีพปลอมข้อมูลทางธนาคารแห่งประเทศไทยมาหลอก จึงต้องฝากถึงหน่วยงานภาครัฐหามาตรการช่วยเหลือประชาชนด้วย
ขอบคุณข้อมูลจาก เรื่องเล่าเช้านี้