พายุมู่หลาน ถล่ม เตือนพื้นที่เสี่ยงน้ำหลากและน้ำท่วม 11-17 ส.ค.นี้
กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ฉบับที่ 26/2565 เรื่อง เฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำหลาก และน้ำท่วมฉับพลัน กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ได้ติดตามการคาดการณ์สภาพอากาศของกรมอุตุนิยมวิทยา พายุโซนร้อนมู่หลาน คาดว่าจะเคลื่อนผ่านเกาะไหหลำ และเคลื่อนขึ้นฝั่งบริเวณประเทศเวียดนามตอนบน ในวันที่ 11 สิงหาคม 2565 ส่งผลทำให้ในช่วงวันที่ 11 - 13 สิงหาคม 2565 มีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่งบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออก
กอนช. ได้ประเมินสถานการณ์น้ำจากฝนคาดการณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยาและสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) พบว่าจะมีปริมาณฝนตกสะสมต่อเนื่อง ประกอบกับสถานการณ์น้ำในลำน้ำและแหล่งน้ำธรรมชาติบางพื้นที่ที่ฝนตกหนักอยู่ในเกณฑ์น้ำมาก อาจส่งผลให้เกิดน้ำหลากและน้ำท่วมฉับพลัน รวมทั้งมีบางพื้นที่มีน้ำท่วมขังอยู่เดิมอาจมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น จึงขอให้เฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยง ในช่วงวันที่ 11 - 17 สิงหาคม 2565 ดังนี้
- เฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำหลาก น้ำท่วมขัง
ภาคเหนือ จังหวัดเชียงราย (อำเภอเวียงแก่น ขุนตาล เทิง ดอยหลวง และเชียงของ) จังหวัดเชียงใหม่ (อำเภอแม่แตง และเวียงแหง) จังหวัดพะเยา (อำเภอเชียงคำ และปง) จังหวัดแม่ฮ่องสอน (อำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน ปาย แม่สะเรียง แม่ลาน้อย ขุนยวม ปางมะผ้า และสบเมย) จังหวัดน่าน (อำเภอเฉลิมพระเกียรติ เชียงกลาง ท่าวังผา ทุ่งช้าง บ่อเกลือ ปัว และสองแคว) จังหวัดพิษณุโลก (อำเภอนครไทย) จังหวัดตาก (อำเภออุ้มผาง)
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จังหวัดเลย (อำเภอด่านซ้าย และวังสะพุง) จังหวัดหนองคาย (อำเภอรัตนวาปี) จังหวัดบึงกาฬ (อำเภอเมืองบึงกาฬ บึงโขงหลง โซ่พิสัย เซกา และปากคาด) จังหวัดนครพนม (อำเภอเมืองนครพนม ท่าอุเทน โพนสวรรค์ บ้านแพง และศรีสงคราม) จังหวัดศรีสะเกษ (อำเภอเมืองศรีสะเกษ ยางชุมน้อย และราษีไศล)
ภาคตะวันออก จังหวัดนครนายก (อำเภอเมืองนครนายก บ้านนา ปากพลี และองครักษ์) จังหวัดปราจีนบุรี (อำเภอเมืองปราจีนบุรี กบินทร์บุรี ประจันตคาม ศรีมหาโพธิ บ้านสร้าง และนาดี) จังหวัดระยอง (อำเภอแกลง) จังหวัดจันทบุรี (อำเภอเมืองจันทบุรี นายายอาม แก่งหางแมว ขลุง เขาคิชฌกูฏ โป่งน้ำร้อน มะขาม แหลมสิงห์ ท่าใหม่ และสอยดาว) จังหวัดตราด (อำเภอเกาะช้าง เกาะกูด แหลมงอบ และเขาสมิง)
- เฝ้าระวังระดับน้ำเพิ่มขึ้นอย่างฉับพลันและระดับน้ำล้นตลิ่ง บริเวณแม่น้ำสายหลักและลำน้ำสาขา ของแม่น้ำกก แม่น้ำวัง แม่น้ำยม แม่น้ำน่าน แม่น้ำแควน้อย แม่น้ำป่าสัก แม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำเลย แม่น้ำชี แม่น้ำมูล แม่น้ำบางปะกง และแม่น้ำตราด
- เฝ้าระวังแหล่งน้ำขนาดใหญ่และอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่
ที่มีปริมาตรน้ำสูงกว่าเกณฑ์ปฏิบัติการอ่างเก็บน้ำกักเก็บสูงสุด (Upper Rule Curve) 9 แห่ง ได้แก่ อ่างเก็บน้ำแม่งัดสมบูรณ์ชล จังหวัดเชียงใหม่ อ่างเก็บน้ำกิ่วลม และกิ่วคอหมา จังหวัดลำปาง บึงบอระเพ็ด จังหวัดนครสวรรค์ อ่างเก็บน้ำป่าสักชลสิทธิ์ จังหวัดลพบุรี อ่างเก็บน้ำน้ำพุง จังหวัดสกลนคร อ่างเก็บน้ำอุบลรัตน์ จังหวัดขอนแก่น อ่างเก็บน้ำบางพระ จังหวัดชลบุรี และอ่างเก็บน้ำหนองปลาไหล จังหวัดระยอง รวมทั้งอ่างเก็บน้ำขนาดกลางที่มีปริมาตรน้ำมากกว่าร้อยละ 80 และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น เสี่ยงน้ำล้นกระทบพื้นที่บริเวณท้ายอ่างเก็บน้ำทั่วประเทศ
ในการนี้ เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมรับมือ ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องโปรดดำเนินการ ดังนี้
1. ติดตามสภาพอากาศและสภาพน้ำอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีฝนตกสะสมมากกว่า 90 มิลลิเมตร ในช่วงเวลา 24 ชั่วโมง และพื้นที่จุดเสี่ยงที่เคยเกิดน้ำท่วมขังอยู่เป็นประจำ
2. ตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรงและความสามารถใช้งานของอ่างเก็บน้ำ อาคารบังคับน้ำ สถานีสูบน้ำ และติดตาม ตรวจสอบ ซ่อมแซม แนวคันบริเวณริมแม่น้ำและกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำ พร้อมทั้งวางแผนการบริหารจัดการน้ำให้เหมาะสมกับปริมาตรน้ำในอ่างเก็บน้ำ และระดับน้ำในลำน้ำ เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมรับน้ำหลากป้องกันน้ำท่วม ให้สามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
3. เตรียมแผนรับสถานการณ์น้ำหลาก เตรียมความพร้อมบุคลากร เครื่องจักรเครื่องมือ รวมถึงความพร้อมของระบบสื่อสารสำรอง เพื่อบูรณาการความพร้อมให้ความช่วยเหลือได้ทันที
4. ประชาสัมพันธ์สถานการณ์น้ำ และแจ้งเตือนล่วงหน้า ให้ประชาชนที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบ เตรียมพร้อมในการอพยพได้ทันท่วงทีหากเกิดสถานการณ์