ชายวัย 65 ปี ป่วยมะเร็ง มีโอกาสหาย แต่กลับไปเชื่อหมอ Google ดื่มน้ำดอกมะละกอแทนการรักษา สุดท้ายพลาดเข้าสู่ระยะลุกลาม

ชายวัย 65 ปี ป่วยมะเร็ง มีโอกาสหาย แต่กลับไปเชื่อหมอ Google ดื่มน้ำดอกมะละกอแทนการรักษา สุดท้ายพลาดเข้าสู่ระยะลุกลาม

จากสื่อต่างประเทศ ได้รายงานว่า นายโง วาน เชียน อายุ 65 ปี จากจังหวัดเซินลา ประเทศเวียดนาม เริ่มมีอาการปวดท้องเป็นระยะ คิดว่าเป็นเพียงปัญหาทางเดินอาหารหรืออาการตามวัย จึงซื้อยามากินเอง แต่อาการไม่ดีขึ้น กลับรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะหลังรับประทานอาหาร แม้ครอบครัวจะเร่งให้ไปพบแพทย์ แต่เขายังคงปฏิเสธ มะเร็งลำไส้ใหญ่ที่ถูกละเลย เมื่อเริ่มน้ำหนักลดลงอย่างรวดเร็ว ผิวพรรณซีดเซียว เขาจึงยอมไปตรวจที่โรงพยาบาล ผลตรวจชิ้นเนื้อสร้างความตกใจให้ทั้งครอบครัว เพราะพบว่าเขาเป็น มะเร็งลำไส้ใหญ่ส่วนปลาย (rectal cancer)

แพทย์แนะนำให้ผ่าตัดโดยเร็วและใช้วิธีการรักษาที่ทันสมัย ซึ่งมีโอกาสหายขาดมากกว่า 90% แต่แทนที่จะเชื่อแพทย์ นายเชียนกลับค้นหาข้อมูลบนอินเทอร์เน็ต และเข้าร่วมกลุ่มออนไลน์ที่สนับสนุนการรักษามะเร็งแบบ "ธรรมชาติ" ซึ่งเต็มไปด้วยเรื่องราวของผู้ที่ "รอดชีวิต" โดยอ้างว่าการรับประทานอาหารแบบแมคโครไบโอติก (อาหารชีวจิต) ดื่มน้ำผลไม้ หรือน้ำดอกมะละกอช่วยรักษามะเร็งได้

ละเลยการรักษาแพทย์ หันไปพึ่ง หมอ Google

เขาตัดสินใจละทิ้งแผนการรักษาของแพทย์ และกลับบ้านเพื่อทำตามวิธีที่พบทางออนไลน์ โดยเน้นดื่มน้ำดอกมะละกอหมักกับรากไม้ต่าง ๆ เป็นประจำ นอกจากนี้ เขายังใช้เวลาหลายชั่วโมงต่อวันอ่านบทความเกี่ยวกับ การรักษามะเร็งโดยไม่ต้องทำคีโม และสั่งซื้อผลิตภัณฑ์เสริมอาหารจากเว็บไซต์ที่โฆษณาอย่างหนัก ช่วงแรกเขารู้สึกโล่งใจเพราะไม่ต้องเผชิญกับการผ่าตัดหรือทำเคมีบำบัด แต่สุขภาพของเขาทรุดลงอย่างรวดเร็ว จนกระทั่งร่างกายอ่อนแออย่างหนักและต้องกลับไปโรงพยาบาลอีกครั้ง

โรครุนแรงขึ้น เสียโอกาสรักษา เมื่อถึงโรงพยาบาล พบว่าเนื้องอกขยายตัวจนใกล้แตก และลุกลามไปยังเยื่อบุช่องท้องและลำไส้ใหญ่ แพทย์แจ้งข่าวร้ายว่ามะเร็งเข้าสู่ระยะลุกลาม โอกาสรักษาให้หายขาดลดลงไปมากกว่าช่วงที่ตรวจพบครั้งแรก ทีมแพทย์ต้องรีบผ่าตัดฉุกเฉินเพื่อป้องกันการแตกของเนื้องอก และให้การดูแลแบบประคับประคองเพื่อยืดอายุของผู้ป่วย

ดร. ฮา ไฮ นัม (Ha Hai Nam) รองหัวหน้าภาควิชาศัลยกรรมช่องท้อง กล่าวว่า กรณีนี้เป็นตัวอย่างของผลลัพธ์ที่น่าเสียดายจากการปฏิเสธการรักษาทางการแพทย์" ผู้ป่วยต้องเผชิญกับการรักษาที่ยากลำบากและเจ็บปวดมากขึ้น และอัตราการรอดชีวิตต่ำลง

ข้อมูลผิด ฃๆ บนอินเทอร์เน็ตกำลังทำร้ายผู้ป่วย ปัจจุบันมีผู้ป่วยมะเร็งจำนวนมากที่สามารถรักษาให้หายขาดได้หากได้รับการวินิจฉัยตั้งแต่ระยะแรกและเข้ารับการรักษาอย่างถูกต้อง

อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยจำนวนมากถูกชักจูงโดยข้อมูลที่ผิด ๆ บนอินเทอร์เน็ต พวกเขาเลือกใช้วิธีการรักษาที่ไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ และ "หมอเถื่อนออนไลน์" ก็ฉวยโอกาสหลอกขายผลิตภัณฑ์เสริมอาหารโดยใช้คำโฆษณาเช่น "รักษามะเร็งโดยไม่ต้องทำคีโม", "ฟื้นฟูสุขภาพภายใน 1 เดือน", หรือ "อาหารเสริมที่สามารถฆ่าเซลล์มะเร็งได้" ซึ่งทั้งหมดนี้ ไม่มีหลักฐานทางการแพทย์รองรับ

คนจำนวนมากเชื่อโฆษณาหลอกลวงเพราะพวกเขาหวาดกลัวการรักษาทางการแพทย์

ดร. นัมกล่าวว่ายังไม่มีตัวเลขสถิติที่แน่ชัด แต่พบว่าจำนวนผู้ป่วยที่ปฏิเสธการรักษาทางการแพทย์เพราะเชื่อโฆษณาบนอินเทอร์เน็ตมีเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ พวกเขาตกเป็นเหยื่อของแผนการตลาดที่ชัดเจนและมีเป้าหมาย ในขณะที่ข้อมูลทางการแพทย์ที่ถูกต้องแม่นยำกลับไม่สามารถตอบสนองต่อความคาดหวังของผู้ป่วยบางกลุ่มที่ต้องการวิธีรักษาที่ง่าย รวดเร็ว และราคาถูก

แพทย์ยอมรับว่าส่วนหนึ่งมาจากปัญหาของระบบสาธารณสุขเอง

ผู้เชี่ยวชาญยังชี้ให้เห็นว่า ปัญหาความแออัดในโรงพยาบาล การต้องรอคิวนาน และบุคลากรทางการแพทย์บางส่วนที่ขาดทัศนคติที่ดีต่อผู้ป่วย เป็นปัจจัยที่ทำให้ผู้คนหมดศรัทธาในระบบสาธารณสุข และเปิดโอกาสให้ข้อมูลที่ไม่มีแหล่งอ้างอิงเข้ามาครอบงำ

ปกป้องสุขภาพ = ต่อต้านข้อมูลผิด ๆ การปกป้องสุขภาพของผู้ป่วยไม่ใช่เพียงแค่การรักษาโรคเท่านั้น แต่ยังเป็นการต่อสู้กับข้อมูลเท็จที่แพร่กระจายไปทั่ว แพทย์ขอแนะนำให้ประชาชน "เลือกแหล่งข้อมูลที่เชื่อถือได้ เช่น เว็บไซต์ของกระทรวงสาธารณสุข หรือโรงพยาบาลชั้นนำ แทนที่จะเชื่อโฆษณาชวนเชื่อที่ไม่มีหลักฐานทางการแพทย์รองรับ"

:: ร่วมแสดงความคิดเห็นกับสิ่งนี้

:: เนื้อหาข่าวที่น่าสนใจ