หมอเบียร์ เล่าวิกฤติหมอชายแดน ไทยต้องแบกค่ารักษา 9.2 หมื่นล้าน

หมอเบียร์ เล่าวิกฤติหมอชายแดน ไทยต้องแบกค่ารักษา 9.2 หมื่นล้าน

จากกรณี สำนักงานสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือ สภาพัฒน์ รายงานภาวะสังคมไทยไตรมาส 4 และภาพรวมปี 2567 เรื่อง คนต่างด้าวกับระบบสาธารณสุขชายแดนว่า มีค่าใช้จ่ายด้านสาธารณสุขที่เรียกเก็บไม่ได้ของคนต่างด้าว ในพื้นที่ชายแดน 31 จังหวัด มูลค่า 9.2 หมื่นล้านบาท

เรื่องนี้ดูเหมือนจะสะท้อนภาพใหญ่ปัญหาสาธารณสุขชายแดน เนื่องจากพบว่า 81.1% เป็นชาวเมียนมาเข้ามารับบริการ มากถึง 2.5 ล้านครั้ง, 7% ชาวลาวเข้ามาบริการ 4.9 แสนครั้ง, 6.8% เป็นชาวมาเลเซีย 2.2 แสนครั้ง และ 5.1% ชาวกัมพูชา 5 แสนครั้ง

โดยเฉพาะพื้นที่ตามแนวชายแดนในจังหวัดตาก ที่มีโรงพยาบาลหลายแห่งที่ต้องแบกรับผู้ป่วย ทั้งคนไทยและคนต่างด้าว ยิ่งช่วงเกิดภัยสงครามในฝั่งประเทศเมียนมา โรงพยาบาลก็กลายเป็นสถานที่รักษาผู้อพยพที่ได้รับบาดเจ็บ นี่ก็เป็นอีกเหตุผลที่ทำให้หมอ-พยาบาลทำงานหนัก

หากจำกันได้ "หมอเบียร์ – พญ.ณัฐกานต์ ชื่นชม" อายุรแพทย์โรคติดเชื้อ โรงพยาบาลแม่สอด ซึ่งทำงานที่นี่มา 20 กว่าปี เคยโพสต์เฟซบุ๊กส่งเสียงสะท้อนถึงภาระงานที่หนักอึ้งในระบบสาธารณสุขชายแดน ทำให้ตัดสินใจยื่นใบลาออก หลังถูกสั่งให้ดูแลผู้ป่วยวัณโรค และ HIV ในค่ายผู้ลี้ภัยบ้านแม่หละ ทีมข่าวไทยรัฐทีวีเดินทางไปที่ รพ.แม่สอด จ.ตาก ที่นี่ถือเป็นโรงพยาบาลชายแดนขนาดใหญ่ที่สุดในจังหวัดตาก รองรับการให้บริการทั้งคนไทยและคนเมียนมาในพื้นที่ราว 5 แสนคน

ปัจจุบันโรงพยาบาลแม่สอด มีแพทย์ทั้งหมด 72 คน พยาบาล 356 คน ซึ่งในอัตรานี้แพทย์ 1 คน ต้องรักษาผู้ป่วย 1 ต่อ 7,000 โดยปกติ อัตราส่วนแพทย์ที่เหมาะสมคือ 1 ต่อ 1,000 คน แต่แพทย์ที่โรงพยาบาลแม่สอด ต้องรับผิดชอบคนไข้มากกว่ามาตรฐานถึง 7 เท่า

แพทย์หญิงณัฐกานต์ เปิดใจกับทีมข่าวไทยรัฐทีวีว่า ภาระที่ต้องแบกรับ รวมถึงวันหยุดต่อเดือนค่อนข้างน้อย กังวลว่าจะส่งผลเสียต่อสุขภาพกายและสุขภาพจิต ที่มีความเครียดและความเหนื่อยล้า จนทำให้ปฏิบัติงานไม่เต็มประสิทธิภาพ จึงยื่นใบลาออกจาก รพ.แม่สอด และจะมีผลในวันที่ 31 มีนาคมนี้

สถานการณ์ปัจจุบันของ รพ.แม่สอด เหมือนอย่างที่โพสต์ไปคือ รพ.แม่สอด เป็นโรงพยาบาลขนาดประมาณ 450 เตียง เรามีบุคลากรทางการแพทย์ประมาณ 80 คน แต่ปีนี้มีคนที่ย้ายออก ลาออก ทำให้เหลือประมาณ 72 คน และมีพยาบาลอยู่ 350 คน ซึ่งเรายังขาดอัตรากำลังของแพทย์และพยาบาลอยู่ ซึ่งเราจะดูแลคนไข้ ซึ่งเป็นคนไทยใน อ.แม่สอด ประมาณ 2 แสนคน แต่พอมีประชากรต่างชาติเข้ามาเพิ่ม ทั้งแรงงาน ชาวบ้านที่ข้ามไปมา หรือคนที่หลบหนีมาจากสงคราม ประมาณ 5 แสนคน แล้วแต่สถานการณ์ชายแดน อัตรากำลังจึงไม่เพียงพอ แค่ดูแลคนไทยอย่างเดียวก็ไม่พออยู่แล้ว

ทั้งนี้ WHO กำหนดว่าหมอหนึ่งคน ดูแลคนไข้ 1,000 คน แต่ของประเทศไทยคือ หมอ 1 คน ต่อคนไข้ 2,000 คนโดยเฉลี่ย แต่พื้นที่ชายแดนที่มีประชากรเข้ามาเพิ่ม ก็จะมีอัตราการทำงานที่มากกว่าปกติ 5-8 เท่า หรือหมอหนึ่งคน ดูแลคนไข้ 5,000 - 8,000 คน

แพทย์หญิงณัฐกานต์ เผยต่อว่า พื้นที่ชายแดนเป็นพื้นที่ไร้ขอบเขต โรคหลักๆ ก็จะเป็นโรคติดเชื้อ หรือโรคระบาดที่ต้องเข้าไปควบคุม เราจะต้องมีความตื่นตัวอยู่ตลอดเวลา แต่เรามีบุคลากร และเครื่องมืออย่างจำกัด อย่างตอนที่อหิวาตกโรคระบาด เราไม่ทราบปัญหาจากฝั่งเมียนมา แต่เราต้องเตรียมเพื่อให้ชายแดนเราแข็งแกร่ง ไม่ให้เข้าไประบาดถึงพื้นที่ชั้นในของประเทศ ปัญหาอีกอย่างเป็นเรื่องของการสื่อสาร บางคนสื่อสารด้วยภาษาไทยไม่ได้ ทำให้เราต้องใช้เวลามากขึ้นในการรักษา

จากการตรวจสอบงบย้อนหลังที่ใช้สำหรับผู้ไร้สิทธิ์การรักษาของ รพ.แม่สอดปี 2561 - 2566 พบว่ามีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยปี 2561 ใช้งบฯ 42 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1 เท่าตัว ในปี 2565 ประมาณ 84 ล้านบาท

ซึ่งจากการพูดคุยกับแพทย์หญิงณัฐกานต์ ทำให้ทราบว่า รพ.แม่สอด รองรับผู้ป่วยฉุกเฉิน ทั้งชาวเมียนมาและกะเหรี่ยงที่ทำงานฝั่งไทย หากบาดเจ็บ หรือป่วยเล็กน้อยจะไปรักษาที่ "แม่ตาวคลินิก" สถานพยาบาลที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐ และ NGO ทั้งไทยและต่างประเทศ ทีมข่าวเดินทางไปยัง "แม่ตาวคลินิก" ในตำบลท่าสายลวด อ.แม่สอด จ.ตาก พบว่าแต่ละวันมีชาวเมียนมาเดินทางมารักษาพยาบาลจำนวนมาก เฉลี่ยวันละ 500 - 1,500 คน ที่นี่ครอบคลุมให้บริการทางการแพทย์เกือบครบวงจร

นายธเนศ ชาญเกียรติสกุล รองผู้อำนวยการการพัฒนาองค์กร แม่ตาวคลินิก บอกว่า ที่นี่เปิดมา 36 ปี ทำงานควบคู่กับโรงพยาบาลแม่สอด ได้รับงบจากองค์กรและสถานทูตต่างๆ หลายประเทศ ทั้งญี่ปุ่น ออสเตรเลีย ส่วนสหรัฐอเมริกาก็มี NGO ที่สนับสนุน แม้ว่าไม่ได้รับงบจากรัฐบาลของสหรัฐฯ ก็ตาม โดยปี 2560 แม่ตาวคลินิกใช้งบ 70-80 ล้านบาท แต่ที่น่าตกใจคือปี 2567 ที่ผ่านมาใช้งบ 130-140 ล้านต่อปี หากปีไหนงบไม่เพียงพอก็ต้องยุบบางฝ่ายไปทำงานกับแผนกอื่นแทน เดิมที่นี่มีหมอ 2 คน ปัจจุบันเพิ่มเป็น 20 คน

รอง ผอ.พัฒนาองค์กร แม่ตาวคลินิก บอกอีกว่า ทุกวันนี้บุคลากรทางการแพทย์ในโรงพยาบาลแม่สอด ต้องแบกรับภาระจำนวนผู้ป่วยต่อวันเกินกำลัง และแต่ละโรงพยาบาลก็มีปัญหาต่างกัน หากได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากภาครัฐที่ดี และความชัดเจนประกันสุขภาพสำหรับคนชายขอบ ก็ทำให้ระบบสาธารณสุขแนวชายแดนมีความคล่องตัวมากขึ้น

:: ร่วมแสดงความคิดเห็นกับสิ่งนี้

:: เนื้อหาข่าวที่น่าสนใจ