
หมอสุรัตน์ เตือน ผู้หญิงกินยาคุม เสี่ยงอัมพาต
วันที่ 22 ก.พ. 2568 ผศ.นพ.สุรัตน์ ตันประเวช แพทย์เชี่ยวชาญด้านสมองและระบบประสาท โพสต์ข้อความผ่านเพจเฟซบุ๊กชื่อ “สาระสมองกับ อจ.หมอสุรัตน์” ระบุว่า เกิดเป็นหญิงมีแต่ความเสี่ยง กินยาคุม ยังเป็นอัมพาตเลย จะให้สามีคุม ดันบอกไม่ ok
หญิง 35 ปี ปวดหัว รุนแรง ชักมา เอ็กซ์เรย์มีก้อนเลือดอุดตันเส้นเลือดดำ สมองระบายน้ำออกไม่ได้ สมองบวม เซลล์ตาย มีคลื่นชักออกมา อาการแย่ ดีนะ ให้ยาละลายลิ่มทัน
ซักไป ทานยาคุม ชนิดผสม combine pill อันนี้แหละเหตุ พบบ่อยในหญิงกินยาคุม โอโห แค่คุมกำเนิดก็เสี่ยงอัมพาต แจงเหตุ สามีไม่ยอมคุมเอง
วันนี้เลยเล่าภัย และความเสี่ยงที่เกิดขึ้นได้ จากยาคุม หมอรู้ เภสัชรู้ คนกินก็ควรรู้
ภาวะลิ่มเลือดอุดตันในไซนัสหลอดเลือดดำสมอง (Cerebral venous sinus thrombosis: CVST) เป็นภาวะที่พบได้ไม่บ่อยแต่รุนแรง ซึ่งเกิดจากการก่อตัวของลิ่มเลือดในไซนัสหลอดเลือดดำของเยื่อหุ้มสมองหรือหลอดเลือดดำในสมอง
โดยภาวะนี้มักเกิดในคนวัยหนุ่มสาว โดยเฉพาะในผู้หญิงวัยเจริญพันธุ์ และมีปัจจัยเสี่ยงหลายประการ เช่น การใช้ยาคุมกำเนิดชนิดรับประทาน (Oral Contraceptives: OC) และการตั้งครรภ์
ปัจจัยเสี่ยง การใช้ยาคุมกำเนิด : การใช้ยาคุมกำเนิดชนิดรับประทาน ถือเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญต่อการเกิดภาวะ CVST โดยเฉพาะในผู้หญิง งานวิจัยบางฉบับระบุว่า ผู้หญิงที่เป็นโรคนี้มีการใช้ยาคุมกำเนิดถึง 33% หรืออีกรายงาน เสี่ยงกว่าคนทั่วไป 7 เท่าเลย
อาการที่มา และสงสัย คือ ปวดหัว ชัก ซึม หมดสติ อ่อนแรงอัมพาต เอ็กซเรย์เจอก้อนๆ อุดตรงเส้นเลือดดำ กลางหัวเลย สมองบวม
เกิดเป็นหญิงแท้จริงแสนลำบากเหมือนโบราณว่าไว้ สามีก็อย่าเห็นแก่ตัว เค้าเสี่ยงไปเสียทุกอย่าง” นพ.สุรัตน์ ระบุ
ทั้งนี้ นพ.สุรัตน์ ได้แนบข้อมูลงานวิจัยเรื่องดังกล่าวไว้ที่คอมเมนต์ใต้โพสต์ โดยมีข้อสรุปของงานวิจัยว่า การศึกษาแสดงให้เห็นว่า ความเสี่ยงต่อการเกิด CVST เพิ่มขึ้นตามอายุ การใช้ยาคุมกำเนิด และช่วงหลังคลอด โดยอาการชัก มักพบร่วมกับ CVST ในกลุ่มหลังคลอด
ขณะที่มะเร็งเป็นภาวะร่วมที่พบบ่อยในกลุ่มไม่มีปัจจัยเสี่ยงด้านสุขภาพการเจริญพันธุ์ การประเมินความเสี่ยงเหล่านี้และการวินิจฉัยตั้งแต่เนิ่นๆ จะช่วยให้ผู้ป่วยได้รับประโยชน์จากการรักษาที่รวดเร็วและเหมาะสม
นอกจากนี้ นพ.สุรัตน์ ยังได้ตอบคอมเมนต์ของผู้ใช้งานเฟซบุ๊กที่เข้ามาสอบถามว่า ‘คุณหมอคะ ถ้าคนที่ใช้วิธีฉีดยาคุมกำเนิดแบบรายเดือน มีความเสี่ยงแค่ไหนคะ’ โดยนพ.สุรัตน์ ตอบกลับว่า “ไม่ค่อยเสี่ยงครับ”
รวมถึงคอมเมนต์ที่สอบถามว่า ‘Best way ของยาคุมกำเนิดคือชนิดไหนคะ‘ โดยนพ.สุรัตน์ ตอบกลับว่า “ยาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวมแบบขนาดต่ำ (Low-Dose Combined Oral Contraceptives: COCs) เสี่ยงไม่มากครับ หรือพวกยาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนเดี่ยว (Progestogen-Only Pills: POPs) ครับ”