
เลิกได้เลิก! หมอเตือน กัดเล็บ เสี่ยงติดเชื้อรุนแรง อันตรายถึงชีวิต
วันนี้ (17 ก.พ.68 ) รศ.นพ.วีระศักดิ์ จรัสชัยศรี อาจารย์แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านนิติเวชศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว.) ได้ออกมาโพสต์ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว “หมอหมู วีระศักดิ์” เตือนภัยสายชอบกัดเล็บ หลังมีการเปิดเผยกรณีศึกษาจากต่างประเทศ ที่พบผู้ป่วยติดเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งเกิดจากการกัดเล็บของตัวเอง ทำให้เกิดภาวะนิ้วบวม ซึ่งหากรักษาล่าช้า เชื้ออาจลุกลามขึ้นที่แขน และเสี่ยงภาวะการติดเชื้อในกระแสเลือดได้ พร้อมแนะควรหยุดพฤติกรรมดังกล่าว
เตือน! หยุดพฤติกรรมกัดเล็บ เสี่ยงติดเชื้อ ‘อันตรายถึงชีวิต’
การกัดเล็บเป็นพฤติกรรมที่หลายคนมองว่าไม่มีอันตราย แต่กรณีศึกษาล่าสุดชี้ให้เห็นถึงความเสี่ยงที่ร้ายแรงจากพฤติกรรมนี้
กรณีศึกษา : การติดเชื้อรุนแรงจากการกัดเล็บ
Karen Peat จากสกอตแลนด์ ได้แชร์ประสบการณ์ของเพื่อนที่ถูกนำส่งโรงพยาบาล Glasgow Royal Infirmary เพื่อผ่าตัดฉุกเฉิน หลังจากที่เพื่อนของเธอกัดเล็บจนติดเชื้อที่นิ้ว แม้จะได้รับคำแนะนำจากเภสัชกรให้ใช้แมกนีเซียมซัลเฟตและปิดแผล แต่การติดเชื้อกลับแย่ลง แพทย์เตือนว่าหากปล่อยไว้ การติดเชื้ออาจลุกลามขึ้นแขนและเป็นอันตรายถึงชีวิต
ความเสี่ยงจากการกัดเล็บ
1. การติดเชื้อที่ผิวหนังรอบเล็บ (Paronychia): การกัดเล็บอาจทำให้ผิวหนังรอบเล็บเกิดบาดแผล เปิดโอกาสให้แบคทีเรียหรือเชื้อราเข้าสู่ร่างกาย
2. การติดเชื้อในกระแสเลือด (Sepsis): ในกรณีที่การติดเชื้อลุกลาม แบคทีเรียอาจเข้าสู่กระแสเลือด ทำให้เกิดภาวะพิษในเลือด ซึ่งเป็นอันตรายถึงชีวิต
3. ปัญหาทางทันตกรรม: การกัดเล็บอย่างต่อเนื่องอาจทำให้ฟันสึกหรอหรือเกิดความเสียหาย
คำแนะนำในการหยุดพฤติกรรมการกัดเล็บ
Dr. Claire Merrifield แพทย์ทั่วไปและผู้อำนวยการด้านการแพทย์ที่ Selph แนะนำว่า การกัดเล็บหรือที่เรียกว่า onychophagia อาจเกิดจากความเบื่อหน่ายหรือการทำงานที่ยากลำบาก มากกว่าความวิตกกังวล เธอแนะนำให้ผู้ที่มีพฤติกรรมนี้พยายามหาวิธีหยุด เช่น
1. การใช้ผลิตภัณฑ์ทาเล็บที่มีรสขม: เพื่อเตือนสติเมื่อเผลอกัดเล็บ
2. การหากิจกรรมอื่นทำแทน: เช่น การบีบลูกบอลลดความเครียด
3. การปรึกษาผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิต: หากพฤติกรรมนี้เกี่ยวข้องกับความเครียดหรือความวิตกกังวล
ทั้งนี้ หมอหมู กล่าวเพิ่มเติมว่า ข้อมูลทั้งหมดที่ผมนำเสนอมีการอ้างอิงแหล่งที่มาชัดเจน และผมได้พยายามอ้างอิงจากแหล่งข้อมูลที่เชื่อถือได้ แต่บางครั้งอาจมีการโต้แย้งในข้อมูล ซึ่งเป็นเรื่องปกติในแวดวงวิชาการ ดังนั้นจึงขอเรียนทุกท่านว่า โปรดใช้วิจารณญาณในการอ่านบทความของผม และควรหาข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อความถูกต้องอีกครั้งด้วยนะครับ
ขอบคุณข้อมูล : เฟซบุ๊ก หมอหมู วีระศักดิ์