หวั่นทะลักเข้าไทย! ปิดโรงพยาบาลผู้ลี้ภัย หลังทรัมป์ประกาศนโยบายตัดความช่วยเหลือ
คณะกรรมการผู้ลี้ภัยกะเหรี่ยง ค่ายแม่หละ อ.ท่าสองยาง จ.ตาก ออกประกาศแจ้งว่าการสนับสนุนด้านสาธารณสุขของคณะกรรมการกู้ภัยระหว่างประเทศ (International Rescue Committee -IRC) เกี่ยวกับการดูแลผู้ป่วยจะไม่มีอีกต่อไป นับตั้งแต่วันที่ 28 ม.ค. เนื่องจากถูกระงับความช่วยเหลือจากรัฐบาลสหรัฐฯ ภายหลังจากการขึ้นดำรงตำแหน่งสมัยที่ 2 ของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ รอบสอง
โดยแจ้งถึงประชาชนที่อยู่ในค่ายแม่หละทุกคนว่า ทั้งสตรีมีครรภ์ สตรีมีลูกเล็ก ผู้ป่วยอาการหนัก ผู้ป่วยฉุกเฉิน ผู้ป่วยเรื้อรัง ผู้ป่วยวัณโรค ผู้ป่วยเบาหวาน และผู้ป่วยความดันโลหิตสูง ทางโรงพยาบาลไม่สามารถให้บริการได้อีกต่อไป เนื่องจากไม่มีเจ้าหน้าที่แผนกผู้ป่วยนอก (OPD) และ เจ้าหน้าที่แผนกผู้ป่วยใน (IPD) ปฏิบัติงานแล้ว
ด้าน นายสุณัย ผาสุข ที่ปรึกษาฮิวแมนไรท์วอทช์ ให้สัมภาษณ์หลังโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา สั่งระงับการสนับสนุนด้านสาธารณสุขขององค์กร International Rescue Committee เกี่ยวกับการดูแลผู้ป่วยจะไม่มีอีกต่อไปทั่วโลกเป็นเวลา 90 วัน โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 28 ม.ค. 2568 เป็นต้นไป (เริ่มวันนี้ทันที) ลงวันที่ 27 ม.ค. 2568"
นาย สุณัย กล่าวว่า การสั่งระงับความช่วยเหลือชั่วคราว 90 วัน ยังไม่มีความแน่นอนว่าหลังจากครบ 90 วันแล้วจะดำเนินการอย่างไรต่อไป ณ ตอนนี้ไม่มีใครตอบได้ แต่ในกรณีของประเทศไทย โดยเฉพาะองค์กรที่เกี่ยวข้องกับ องค์กรด้านสุขภาพ เด็ก เยาวชน สตรี รวมถึงสิ่งแวดล้อม ทั้งหมดเป็นองค์กรที่รับความช่วยเหลือจากรัฐบาลสหรัฐฯ โดยผ่านองค์กรที่เรียกว่า USAID (ยูเสด) ซึ่งกลุ่มแรกที่ได้รับผลกระทบคือโรงพยาบาลในค่ายผู้ลี้ภัย เพราะล่าสุดถูกสั่งปิดทันที 5 แห่ง ได้แก่ แม่หละ, อุ้มเปี้ยม, นุโพ, แม่สุริน และโรงพยาบาลในค่ายบ้านใหม่ในสอย 5 แห่งถูกตัดน้ำ ตัดไฟ ขณะนี้สถานการณ์ผู้ป่วยในค่ายผู้ลี้ภัยเคว้ง จากที่มีค่ายผู้ลี้ภัยตามแนวชายแดนทั้งหมด 9 ค่าย จำนวนผู้ลี้ภัยรวม 106,000 คน
ส่วนโรงพยาบาลอีก 4 ค่าย คือค่ายลี้ภัยในบ้านต้นยาง และค่ายลี้ภัยถ้ำหิน ขณะนี้ยังเปิดให้บริการอยู่ เพราะบางส่วนรับเงินทุนช่วยเหลือจากองค์กรสุขภาพของ ARC นอกจากของสหรัฐฯ ส่วน 2 ค่ายในแม่ละอูน และแม่ลามาหลวง ยังไม่ได้รับผลกระทบอะไร เพราะรับเงินทุนช่วยเหลือจากองค์กรสุขภาพของเยอรมันนี คำถามสำคัญคือแล้วจะให้ผู้ป่วยเหล่านี้ไปที่ไหน และหากมองตามสถานการณ์ความเป็นไปได้สูงสุดก็คือทะลักเข้าโรงพยาบาลไทย
เมื่อถามว่าเมื่อสถานการณ์มีความเสี่ยงที่ผู้ป่วยจะทะลักเข้าไทยแล้วทางการไทยควรตั้งรับอย่างไร นายสุณัย กล่าวว่า ขณะนี้ต้องมองประเด็นเรื่องมนุษยธรรมมาก่อน แต่ปกติทั่วไประบบโครงสร้างสาธารณสุขของไทยมีข้อจำกัดอยู่แล้ว แต่เมื่อสาธารณสุขของผู้ลี้ภัยถูกตัดขาด ดังนั้น ทางการไทยต้องเร่งจัดสรรนโยบายเฉพาะหน้า เพื่อมนุษยธรรม และป้องกันโรคติดต่อ เพราะหากทางการไทยไม่ดูแลจะส่งผลกระทบต่อชุมชนสังคมคนไทยในพื้นที่
เมื่อถามต่อว่าทางการไทยสามารถแบกรับภาระ เฉพาะหน้านี้ไหวหรือไม่ นายสุณัย กล่าวว่า วันนี้ทางการไทยต้องยอมรับว่ามันคือบูมเมอแรงที่ย้อนกลับมาหารัฐบาลไทย เพราะตลอดหลายสิบปีปล่อยให้ การดูแลผู้ลี้ภัยเป็นภาระของนานาชาติ โดยที่ไทยไม่ต้องควักกระเป๋าแม้แต่บาทเดียว เพราะเป็นเงินที่ได้รับการช่วยเหลือจากนานาชาติมาตลอด เจ้าภาพหลักก็คือรัฐบาลสหรัฐฯ แต่เมื่อรัฐบาลสหรัฐ ตัดสินใจลอยแพ รัฐบาลไทยไม่ได้ตั้งตัว และไม่มีใครเตรียมตัวรับคำสั่งนี้ ขณะนี้จึงเป็นสถานการณ์ฉุกเฉิน อาจจะต้องนำไปสู่การทบทวนในภาพรวมหลังจากแก้ปัญหาเฉพาะหน้าไปแล้ว
ซึ่งเฉพาะหน้าตอนนี้ต้องหางบประมาณและบุคลากรมารองรับ แต่ในระยะยาวทางการไทยต้องทบทวนนโยบายว่าจะมองหาแหล่งเงินทุนเข้ามาช่วยดูแลด้านสาธารณสุขให้กับผู้ลี้ภัยจากที่ไหน ส่วนก้าวต่อไปผู้ลี้ภัยไม่กลับไปในเมียนมาแน่นอน การตั้งถิ่นฐานในประเทศที่ 3 ซึ่งก่อนหน้านี้เป้าหมายหลักก็คือสหรัฐฯ แต่เมื่อทรัมป์ สั่งระงับรับผู้อพยพ จึงกระทบทั้งหมด
ขณะที่ประเทศที่ 3 ที่เคยเป็นทางเลือกให้ผู้ลี้ภัยอพยพ เช่น แคนาดา ออสเตรเลีย ขณะนี้มีปัญหาจากนโยบายของทรัมป์ไปด้วย เพราะไปประกาศสงครามทางการค้า นี่จึงเป็นตัวอย่างให้เห็นชัดเจนว่า ว่านโยบายของทรัมป์ส่งผลกระทบในด้านมนุษยธรรม ด้านความมั่นคง รวมถึงเรื่องเสถียรภาพของมิตรประเทศ ซึ่งเคยมีความสัมพันธ์ให้การช่วยเหลือผู้ที่ตกทุกข์ได้ยากได้รับผลกระทบไปทั้งหมด
นายสุณัย กล่าวอีกว่าผู้ลี้ภัยขณะนี้มีอยู่ราว ๆ 1 แสนคน ภายใต้การดูแลของกระทรวงมหาดไทย ดังนั้น กระทรวงมหาดไทยต้องเรียกประชุมฉุกเฉินหน่วยงานในสังกัด โดยระดับรัฐมนตรีต้องลงมาสั่งการเอง ซึ่งอาจจะต้อง ร่วมกับกระทรวงอื่นๆเช่นกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ รวมถึงหน่วยงานมนุษยธรรมอื่น ๆของไทย เพื่อหาทางออกร่วมกัน เพราะตอนนี้มี 2 เรื่องใหญ่ที่พันกันอยู่ก็คือเรื่องมนุษยธรรม และโรคติดต่อ