นักโภชนาการเฉลย ขนมปังเพิ่งหมดอายุ กินได้หรือไม่ได้ เผยวิธีตรวจสอบ เตือนอย่าดูด้วยตาเปล่า
จากสื่อต่างประเทศ ได้รายงานว่า ขนมปังที่เพิ่งหมดอายุไปไม่กี่ชั่วโมง หลายคนยังเลือกที่จะรับประทานเพื่อหลีกเลี่ยงการทิ้งอาหารโดยเปล่าประโยชน์ อย่างไรก็ตาม นักโภชนาการ จาง อวี้ซี แนะนำว่า ควรหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่หมดอายุแล้ว แต่หากยังยืนยันที่จะกิน ควรพิจารณาปริมาณน้ำในขนมปัง โดยขนมปังที่มีปริมาณน้ำสูง เช่น ขนมปังไส้ครีมหรือแยม จะเสี่ยงต่อการเกิดแบคทีเรียมากกว่า ดังนั้นควรหลีกเลี่ยงการรับประทาน
จาง อวี้ซี ได้โพสต์วิดีโอบนเพจเฟซบุ๊ก เพื่อแชร์คำแนะนำ เมื่อถูกถามว่า "ขนมปังเพิ่งหมดอายุไปครึ่งวัน ยังทานได้อยู่ไหม? คงไม่ใช่ว่าหมดอายุไปแค่ 1 นาทีก็กินไม่ได้แล้วใช่ไหม?" จาง อวี้ซี อธิบายว่า หากมั่นใจว่าร่างกายแข็งแรงและต้องการกินขนมปังที่หมดอายุ ควรตรวจสอบก่อนว่าขนมปังนั้นมีปริมาณน้ำสูงหรือต่ำ
จาง อวี้ซี ชี้ว่า ขนมปังที่มีไส้ครีมหรือแยมจะจัดอยู่ในกลุ่มที่มีปริมาณน้ำสูง ซึ่งเสี่ยงต่อการเจริญเติบโตของแบคทีเรียมากกว่า ในขณะที่ขนมปังแห้งหรือขนมปังปิ้งมีปริมาณน้ำต่ำ จึงยังพอรับประทานได้
สำหรับคำถามว่า "สามารถดูด้วยตาเปล่าเพื่อพิจารณาว่าขนมปังยังกินได้หรือไม่?" จาง อวี้ซี ระบุว่าตาเปล่าสามารถเห็นได้แค่ภายนอก แต่ถ้าดูด้วยกล้องจุลทรรศน์ คุณอาจไม่กล้ากินอีกเลย
นอกจากนี้ จาง อวี้ซี ยังกล่าวถึงกรณีที่ยังสามารถรับประทานได้ คือ อาหารที่ระบุ "ช่วงเวลาที่รสชาติดีที่สุด" ซึ่งหมายถึงช่วงเวลาที่อาหารยังมีรสชาติและคุณภาพดีที่สุด หากเกินเวลานี้ อาหารอาจไม่อร่อยเท่าเดิม แต่ส่วนใหญ่ปัจจุบันมักระบุ "วันหมดอายุ" ซึ่งแนะนำว่าหากเกินวันดังกล่าว ไม่ควรรับประทาน
เกี่ยวกับความแตกต่างระหว่าง "อายุการเก็บรักษา", "วันหมดอายุ" และ "วันแนะนำบริโภคก่อน" สำนักงานอาหารและยา (FDA) อธิบายว่า
-อายุการเก็บรักษา (shelf life) คือช่วงเวลาที่ผลิตภัณฑ์ยังคงคุณภาพตามที่ระบุไว้ นับตั้งแต่วันที่ผลิต โดยปกติอยู่ระหว่าง 6 เดือนถึง 2-3 ปี
-วันหมดอายุ (expiration date) ตัวย่อ EXP หมายถึงช่วงเวลาสุดท้ายที่ผลิตภัณฑ์ยังคงปลอดภัยและสามารถบริโภคได้ หลังจากวันนั้นไม่ควรรับประทาน ควรทิ้ง
-ควรบริโภคก่อน ตัวย่อ BBE หมายถึง อาหารจะมีรสชาติดี ยังคงคุณค่าทางอาหารครบถ้วน ตามที่ระบุไว้บนฉลากอาหารจนถึงวันนั้น หลังจากวันนั้นไปรสชาติ คุณภาพและคุณค่าทางอาหารจะลดลง แต่จะไม่มีปัญหาในเชิงความปลอดภัย จึงยังสามารถบริโภคได้โดยไม่มีอันตราย แต่อาจไม่ได้ประโยชน์จากอาหารนั้นตามที่ระบุไว้บนฉลากอาหารได้
อย่างไรก็ตาม FDA ยังคงแนะนำว่าควรบริโภคอาหารในขณะที่ยังสดใหม่ที่สุด และควรซื้ออาหารในปริมาณที่เหมาะสม เพื่อป้องกันการกักตุนและรับประกันว่าอาหารที่บริโภคนั้นปลอดภัยและสดใหม่เสมอ