กรมอุตุฯแจงแล้ว หลังลือไทยจะเจอ พายุถล่ม24ลูก

กรมอุตุฯแจงแล้ว หลังลือไทยจะเจอ พายุถล่ม24ลูก

กรมอุตุนิยมวิทยา ได้ตรวจสอบข้อมูล จากกรณีผู้ออกมาให้ข้อมูลในโลกออนไลน์ ระบุว่า ตั้งแต่ต้นปีมีพายุเข้าไทยมาแล้ว 11 ลูก คาดการณ์ว่าทั้งปีจะเข้ามาทั้งหมด 24 ลูก โดยได้ชี้แจงว่า

ข้อความที่ปรากฏว่า ตั้งแต่ต้นปี 67 มีพายุเข้าไทยมาแล้ว 11 ลูก คาดการณ์ว่าทั้งปีจะเข้ามาทั้งหมด 24 ลูก นั้นได้ตรวจสอบแล้วพบว่า เป็นการนำข้อมูลจากแบบจำลอง (ในคลิปวิดีโอไม่ได้กล่าวถึงแหล่งข้อมูล) มานำเสนอ ซึ่งแบบจำลองได้คาดการณ์จำนวนพายุที่เกิดขึ้นบริเวณฝั่งตะวันตกของมหาสมุทรแปซิฟิก (ด้านตะวันออกของประเทศฟิลิปปินส์ ) แต่ในความเป็นจริงแล้วพายุที่เกิดขึ้นบริเวณดังกล่าวเคลื่อนที่ตามทิศทางลมที่พัดในขณะนั้น ไม่ได้เคลื่อนมาประเทศไทยทั้งหมด

พายุหมุนเขตร้อนที่เข้าประเทศไทยตั้งแต่ต้นปี 2567 ถึงปัจจุบัน มี 1 ลูก คือ พายุโซนร้อน “ซูลิก (SOULIK,2415)” โดยพายุนี้ได้อ่อนกำลังลงเป็นพายุดีเปรสชันก่อนเคลื่อนเข้าประเทศไทยบริเวณจังหวัดนครพนม ในช่วงเช้าของวันที่ 20 ก.ย. 67 จากนั้นได้อ่อนกำลังลงเป็นหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงปกคลุมบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนในช่วงเย็นของวันเดียวกัน ซึ่งหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงนี้ได้ปกคลุมบริเวณภาคเหนือตอนล่างในเวลาต่อมา

สำหรับการคาดการณ์พายุของกรมอุตุนิยมวิทยาในปี 2567 คาดว่าจะมีพายุหมุนเขตร้อน เคลื่อนเข้าสู่ประเทศไทยจำนวน 1-2 ลูก อนึ่ง กรณีการนับจำนวนพายุมีเกณฑ์ คือ

1) ที่เคลื่อนเข้าสู่ประเทศไทยโดยตรง โดยพายุนั้นต้องมีกำลังอย่างน้อยที่ระดับ ดีเปรสชันและมีศูนย์เข้าอยู่ในเขตประเทศไทย

2) พายุที่ไม่เคลื่อนเข้าสู่ประเทศไทยแต่มีผลกระทบต่อลักษณะอากาศของประเทศไทย ซึ่งจะนับพายุที่เคลื่อนผ่านเข้ามาหรือก่อตัวขึ้นในบริเวณพื้นที่ครอบคลุม (ตั้งแต่ละติจูด 0-25 องศาเหนือ และลองจิจูด 90-120 องศาตะวันออก)

โดยในปี 2567 พายุหมุนเขตร้อนที่มีอิทธิพลต่อสภาพอากาศประเทศไทยตั้งแต่ต้นปี 2567 ถึงปัจจุบัน มี 1 ลูก คือ พายุไต้ฝุ่น “ยางิ (YAGI,2411)” บริเวณทะเลจีนใต้ตอนบน โดยเคลื่อนผ่านเกาะไหหลำลงสู่อ่าวตังเกี๋ยและได้เคลื่อนขึ้นฝั่งบริเวณเมืองไฮฟอง ประเทศเวียดนาม เมื่อช่วงบ่ายของวันที่ 7 ก.ย. 67 จากนั้นได้อ่อนกำลังลงเป็นพายุโซนร้อน บริเวณเมืองนิญบิ่ญ ในช่วงเช้าของวันที่ 8 ก.ย. 67 และอ่อนกำลังลงเป็นพายุดีเปรสชันและหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงตามลำดับ ปกคลุมบริเวณประเทศเวียดนามตอนบนในวันเดียวกัน

:: ร่วมแสดงความคิดเห็นกับสิ่งนี้

:: เนื้อหาข่าวที่น่าสนใจ