แม่ๆอย่าชะล่าใจ! โรคติดเชื้อไวรัส RSV ทำไมเด็กถึงติดเยอะ หากปล่อยไว้นาน เป็นอันตรายถึงชีวิตได้
เรียกได้ว่า เดี๋ยวฝนตกเดี๋ยวแดดออก อากาศมีการเปลี่ยนแปลงบ่อย ทำให้ร่างกายต้องรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ และหนึ่งในโรคสำคัญที่มีโอกาสติดเชื้อ ทำให้เกิดอาการป่วยง่า ๆ โดยเฉพาะในเด็กเล็ก คือ โรคติดเชื้อทางเดินหายใจที่เกิดจากเชื้อไวรัส RSV เชื้อนี้มองเผิน ๆ อาจเหมือนไข้หวัดธรรมดา แต่ก็ไม่ควรประมาท เพราะอันตรายอาจถึงแก่ชีวิตได้
RSV คืออะไร?
RSV (Respiratory Syncytial Virus) เป็นไวรัสชนิดหนึ่งที่ก่อโรคทางระบบทางเดินหายใจที่พบบ่อยในเด็กโดยเฉพาะเด็กเล็กที่มีอายุน้อยกว่า 5 ปี สามารถทำให้เกิดการติดเชื้อระบบทางเดินหายใจทั้งส่วนบนและส่วนล่าง การระบาดของเชื้อนี้มักพบในฤดูฝนและฤดูหนาวในประเทศไทย
หากติดไวรัส RSV จะมีอาการเป็นอย่างไร?
เริ่มแรกเมื่อติดเชื้อ RSV จะมีอาการเหมือนไข้หวัดธรรมดาคือ ไข้ ไอ จาม น้ำมูกไหล โดยลักษณะของไข้จะมีไข้สูงหรือไข้ต่ำๆก็ได้ แต่หากการดำเนินโรครุนแรงมากขึ้นเป็นการติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนล่างจะมีอาการของภาวะหลอดลมอักเสบ ปอดบวมหรือปอดอักเสบ และทำให้เกิดภาวะหายใจล้มเหลวได้ อาการที่ต้องสังเกตของ RSV ที่ต้องเฝ้าระวัง คือ ผู้ป่วยที่ติดเชื้อ RSV และมีอาการไอมาก เสมหะมาก หายใจมีเสียงวี๊ดหรือมีเสียงครืดคราด มีอาการหอบเหนื่อยหายใจเร็วอกบุ๋ม ควรรีบมาพบแพทย์
ผลเสียจาก RSV ในเด็กที่กระทบต่อระบบทางเดินหายใจ
-อาจรุนแรงถึงขั้นปอดอักเสบติดเชื้อ
-ต้องเข้ารับการรักษาตัวในห้องไอซียู
-ระบบหายล้มเหลว ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ
เชื้อไวรัส RSV มักจะระบาดช่วงไหน
ช่วงที่ระบาดจะเป็นช่วงฤดูฝน ประมาณเดือนกรกฎาคม – ตุลาคม หรือบางทีอาจต่อเนื่องถึงช่วงต้นฤดูหนาว
เมื่อติดเชื้อ RSV จะมีอาการอย่างไร
-มีไข้สูง 39-40 องศา ติดต่อกันหลายวัน
-มีน้ำมูก ลักษณะของน้ำมูกจะมีความเหนียวมาก คล้ายกาว
-ไอเยอะ ไอแบบมีเสมหะมาก -หายใจครืดคราด บางรายอาจจะมีอาการหายใจเร็ว หรือหายใจแรง
-หรือมีอาการหอบเหนื่อย
-บางรายเด็กอาจจะปากหรือตัวซีดเขียว ซึ่งเป็นภาวะที่ควรต้องรีบไปพบแพทย์โดยทันที
ความรุนแรงของ RSV ขึ้นกับอะไร
-อายุ
-โรคประจำตัว
-ภาวะเสี่ยงของเด็ก เช่น เด็กที่คลอดก่อนกำหนด
RSV กับไข้หวัดต่างกันอย่างไร
RSV คล้ายไข้หวัดธรรมดา แต่แตกต่างกันตรงที่ RSV จะไข้สูง และระยะเวลาในการเป็นจะนานกว่าไข้หวัดธรรมดา อาจจะมีอาการอยู่ที่ 5-7 วัน ไอนาน มีน้ำมูกเยอะ มีเสมหะมากกว่าเด็กที่เป็นไข้หวัดธรรมดา ซึ่งสิ่งที่น่ากังวลคือ พอเด็กมีน้ำมูกเยอะ หรือเสมหะเยอะ บางครั้งเขาเอาออกเองไม่ได้ เขาจะหายใจลำบาก
การรักษา RSV
ปัจจุบันยังไม่มียารักษาโรคติดเชื้อไวรัส RSV โดยตรง แต่ใช้วิธีการรักษาตามอาการ เช่น การให้ยาลดไข้ แก้ไอละลายเสมหะ ในเด็กบางรายที่มีเสมหะเหนียวมาก ต้องทำการพ่นยาขยายหลอดลมผ่านทางออกซิเจนละอองฝอย เคาะปอด และดูดเสมหะออก จะช่วยลดความรุนแรงของอาการไอและอาการหายใจหอบเหนื่อยได้
โรคติดเชื้อไวรัส RSV ใช้เวลาในการฟื้นไข้ประมาณ 1 – 2 สัปดาห์ ไวรัสชนิดนี้ทำให้เกิดอาการได้ตั้งแต่ไข้หวัดธรรมดา รวมถึงอาการรุนแรงเป็นปอดบวมซึ่งเป็นอันตรายต่อชีวิตลูกน้อยได้ เชื้อไวรัสนี้มีโอกาสกลับมาเป็นซ้ำได้อีกหากร่างกายอ่อนแอ