ไขข้อสงสัย-อาถรรพ์ ดงพญาไฟ ทำไมถึงเป็นพื้นที่ต้องห้ามของนักเดินทาง เข้าแล้วออกยาก
ดงพญาเย็น หรือ ดงพญาไฟ มีพื้นที่อยู่ในจังหวัดสระบุรี แต่เดิม ดงพญาเย็น ถูกเรียกว่า ดงพญาไฟ เป็นชื่อเดิมของป่าดงดิบ ที่อุดมไปด้วยสัตว์ป่ามากมาย รวมถึงสิ่งลี้ลับ ในอดีต ป่า ดงพญาเย็น หรือ ดงพญาไฟ เป็นป่าผืนใหญ่ กั้นระหว่าง สระบุรี-นครราชสีมา-ลพบุรี ในพื้นที่ แถบมวกเล็กไปจนถึงขึ้นเขาแถวเขื่อนลำตะคอง โดยที่ วังน้ำเขียว ปากช่อง กลางดงกั้นระหว่างพื้นที่ภาคอีสาน และภาพคกลาง
ดงพญาไฟเป็นป่ารกทึบ มีสัตว์ร้ายชุกชุม อุดมไปด้วยไข้ป่าหรือมาลาเรีย เป็นพื้นที่ต้องห้ามของนักเดินทาง กรมพระยาดำรงราชานุภาพบันทึกว่า เส้นทางไปโคราช เป็นเส้นเล็กๆ ฝ่ากลางดงพญาไฟ เขาหินปูนต้นไม้ทึบ เริ่มจาก เชิงเขาแก่งคอย ผ่านกลางดงไปออกจากดงที่ปากช่อง เดินได้อย่างเดียว เกวียนไม่ได้
ป่าดงพญาไฟ ถูกกล่าวขานว่าเป็นป่าที่เข้ายาก ออกยาก หลายชีวิตที่เข้าไปไม่มีโอกาสได้กลับออกมา จนมีคำบอกเล่าต่อกันว่า หากใครต้องเดินผ่านดงพญาไฟ ให้เตรียมหม้อดินติดตัวไปด้วย เผื่อเอาใส่กระดูกของตัวเองกลับออกมา
ดงพญาไฟ ถูกเปลี่ยนชื่อเป็น ดงพญาเย็น หลังการเสด็จของ สมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ ซึ่งใช้เส้นทางใน ดงพญาไฟ เดินทางผ่านไปยัง โคราช และเห็นว่าป่าแห่งนี้เย็นดี จึงเสนอให้ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ร.4 เปลี่ยนชื่อเป็น ดงพญาเย็น
ทำไมดงพญาไฟ ถึงน่ากลัว
สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงพระนิพนธ์ถึงดงพญาไฟไว้ว่า (พ.ศ. 2449) "เขาดงพญาไฟนี้ คือเทือกเขาอันเป็นเขื่อนของแผ่นดินสูง เขาเขื่อนที่กล่าวถึงนี้เป็นเขาหินปูน ต้นไม้ขึ้นหนาแน่นเป็นดงทึบตลอดทั้งเทือกเขา มีทางข้ามได้เพียงช่องทางเล็กๆ ทางเดินผ่านดงพญาไฟนี้เป็นช่องทางเล็กๆ สำหรับเดินข้ามไปมาระหว่างสระบุรีกับมณฑลนครราชสีมา มาตั้งแต่ครั้งโบราณ
โดยปากดงพญาไฟอยู่บริเวณเชิงเขาอำเภอแก่งคอย ผ่านกลางดงไปออกจากดงที่ตำบลปากช่อง เส้นทางนี้ผ่านไปได้เพียงแต่เดินเท้า จะใช้โคและเกวียนหาได้ไม่ ด้วยทางเดินต้องเลียบขึ้นไปตามไหล่เขาบ้าง เดินไต่ไปตามสันเขาบ้าง เลี้ยวลดไปตามทางเดินที่เดินได้สะดวก ตั้งแต่ตำบลแก่งคอยต้องค้างคืนในดงพญาไฟ 2 คืนจึงจะพ้นดงที่ตำบลปากช่อง แล้วก็ใช้โคและล้อเกวียนเดินทางต่อไปถึงเมืองนครราชสีมาได้
โดยอองรี มูโอต์ ( Henri Mouhot) นักสำรวจชาวฝรั่งเศสที่มีชื่อเสียงอย่างมากจากการค้นพบนครวัดได้บรรยายถึงดงพญาไฟไว้ในปี พ.ศ.2404 ว่า ข้าพเจ้ายืนอยู่ตรงปากประตูสู่นรก นี่คือสำนวนที่คนลาวและสยามกล่าวขวัญถึงป่าดงดิบแห่งนี้ สรรพสัตว์อันชวนพิศวงจากอาณาจักรแห่งความตายกำลังหลับใหลอยู่ใต้เงาไม้อันหนาทึบซึ่งปรากฏร่องรอยเศษซากกระดูกของนักเดินทางผู้น่าสงสาร
คำตอบจาก ภูมิศาสตร์ ทำไม ดงพญาไฟ ถึงน่ากลัว
ดงพญาไฟ เป็นพื้นที่หนึ่งที่ไม่อยู่ในตัวเลือกของการเดินทางผ่านเข้าสู่ โคราช แม้จะเป็นเส้นทางที่ใกล้ที่สุดเพียงเดินทางข้ามผ่าน ช่วงสระบุรี-โคราช ในอดีต การเดินทางมักถูกใช้เส้นทางลพบุรีมากกว่า เช่น
-สมัยพระนครมาพิมายจะไปลพบุรี (ละโว้) และเมืองศรีเทพ ก็นิยมใช้ช่องลงตรง เหวตาบัว ผ่านดงพญากลาง มาทุ่งซับจำปา เห็นได้จากหลักฐานโบราณสถานที่พบระหว่างเส้นทางคือ ปรางค์นางผมหอมใกล้บ้านโคกคลี บ้านปรางค์น้อย
-สมัยอยุธยา เจ้าสามพระยาและสมเด็จพระนเรศวรมหาราชใช้เดินทัพไปโจมตีเมืองเขมร
-นายฮ้อยอีสานก็ต้อนวัวต้อนควาย ลงมาขายยังภาคกลาง ตามเส้นทางช่องสำราญและช่องตะพานหิน ลงสู่ภาคกลางผ่านทางช่องสำราญ ก่อนจะผ่านลำพญากลางที่บ้านโคกคลี ซึ่งภายหลังปี พ.ศ. 2467 กรมปศุสัตว์มาตั้งด่านกักสัตว์ที่นี่ และยังอยู่จนทุกวันนี้
mitrearth วิเคราะห์ ด้วยหลักคิดทางภูมิศาสตร์ พื้นที่ดงพญาไฟ ว่า เป็นพื้นที่ไม่เหมาะกับการเดินทาง ไม่ว่าจะเป็นการวิเคราะห์ผ่านภูมิปัญญาก่อนเก่า หรือการวิเคราะห์ด้วยเทคนิค GIS ก็ไม่ได้มีการแนะนำให้เดินทางผ่าน ด้วยเหตุผลความลำบากของภูมิประเทศ ซึ่งคอมพิวเตอร์ไม่รู้จักว่าดงพญาไฟเป็นป่ารกแค่ไหน มีสัตว์ร้ายกี่ตัว หรือมีอาถรรถ์อะไรบ้าง
โดยสรุป ด้วยความที่มีทางเดินอื่นที่ดีกว่า ดงพญาไฟก็ไม่ได้เป็นตัวเลือกแรกในการเดินทางมาตั้งแต่ต้น มีเพียงเหตุผลเดียว ที่คนควรผ่านดงนี้ คือ ระยะทางสั้นลงกว่าเดิม หากตัดข้ามดงพญาไฟ
จุดสิ้นสุดความน่ากลัวของ ดงพญาไฟ ก่อนกลายเป็น ดงพญาเย็น
ความน่ากลัวนี้ก็ยังคงอยู่จนถึงสมัยรัชกาลที่ 5 โดยเมื่อมีการตัดทางรถไฟเส้นแก่งคอย-ปากช่อง ผ่านดงพญาเย็นในปี พ.ศ. 2438 นั้น มีคนงานและชาวต่างประเทศป่วยตายเป็นอันมาก ดังปรากฏหลุมศพของ Mr. Knud Lyne Rahbek ซึ่งเป็นบุตรชายของวิศวกรที่มาคุมงาน ที่สถานีรถไฟมวกเหล็ก
จนในที่สุดรัชกาลที่ 5 ต้องเสด็จมาในวันที่ 22 ธันวาคม พ.ศ. 2439 ดังปรากฏพระพระปรมาภิไธยย่อ “จ.ป.ร.” “ส.ผ.” “๑๑๕” ที่สถานีรถไฟผาเสด็จและมีเรื่องเล่าถึงพิธีกรรมเพื่อแก้เคล็ดต่างๆ เช่นเรื่องต้นตะเคียนที่บ้านหินลับ (แต่ที่ evidence ดีที่สุดน่าจะเป็นการยกเลิกการว่าจ้างฝรั่งแล้วให้การรถไฟทำเอง) ทำให้สามารถสร้างทางรถไฟผ่านได้สำเร็จ
และในที่สุดก็ได้มีการตัดถนนผ่านดงพญาเย็น ซึ่งถือเป็นจุดสิ้นสุดของความศักดิ์สิทธิ์ของผืนป่าแห่งนี้