รู้ทัน! ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ a เช็กอาการ-รักษา หากช้าทำให้เกิดการเสียชีวิตได้

รู้ทัน! ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ a เช็กอาการ-รักษา หากช้าทำให้เกิดการเสียชีวิตได้

เรียกได้ว่า ตอนนี้มีหลายคนที่ป่วยเป็นไข้ และบางคนเป็นโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A ซึ่งเราจะรู้อาการได้อย่างไร วันนี้จะพาไปดูกัน

โรคไข้หวัดใหญ่( Influenza) เป็นโรคติดเชื้อไวรัสในระบบทางเดินหายใจ มักจะมีการระบาดมากในช่วงฤดูฝน พบได้ทุกช่วงอายุ ตั้งแต่เด็กเล็ก เด็กโต วัยผู้ใหญ่ และผู้สูงอายุ

ไข้หวัดใหญ่จะแบ่งเป็น 3 สายพันธุ์หลักคือ สายพันธุ์ A สายพันธุ์ B และ สายพันธุ์ C โดยในบทความนี้จะขอกล่าวถึงไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A ซึ่งทำให้เกิดการเจ็บป่วยและเจอภาวะแทรกซ้อนได้รุนแรงกว่าไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์อื่น

ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A จะมีระยะฟักตัวประมาณ 1-3 วัน โดยเชื้อไวรัสจะอยู่ในเสมหะ น้ำมูก และน้ำลาย หากมีการไอ จาม รดกัน หรือไปสัมผัสถูกสารคัดหลั่งเหล่านี้ของผู้ป่วย ก็จะมีโอกาสติดเชื้อได้ง่าย ดังนั้นการสวมใส่หน้ากากอนามัย การล้างมือบ่อยๆ การทำความสะอาดพื้นที่ที่เป็นจุดสัมผัสเสี่ยงสูง เช่น ลูกบิดประตู โต๊ะ แป้นพิมพ์คอมพิวเตอร์ โทรศัพท์ จึงมีความสำคัญเป็นอย่างมาก เพราะสามารถลดการแพร่กระจายเชื้อได้

อาการที่พบได้หลังติดเชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A ผู้ป่วยจะมีไข้ ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ เจ็บคอ ไอ บางรายอาจจะมีอาการท้องเสีย คลื่นไส้อาเจียนร่วมด้วย โดยปกติแล้วระยะการหายจากโรคจะอยู่ในช่วง 5- 7 วัน แต่บางรายก็อาจจะเกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรง เช่น หอบ เหนื่อย ปอดอักเสบ ซึ่งทำให้เกิดการเสียชีวิตได้

**กลุ่มคนที่ต้องเฝ้าระวังสังเกตอาการเป็นพิเศษจะเป็นคนชราที่มีอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป เด็กเล็กที่อายุต่ำกว่า 5 ขวบซึ่งมีภูมิต้านทานต่ำ หญิงตั้งครรภ์ คนอ้วนที่มีน้ำหนักตัวเกิน 100 กิโลกรัมขึ้นไป หรือคนที่มีโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง ความดันโลหิตสูง หอบหืด ทาลัสซีเมีย เป็นต้น

การรักษาโรคไข้หวัดใหญ่ การรักษาโรคไข้หวัดใหญ่ สายพันธุ์ A แพทย์จะจ่ายยาตามอาการ เช่น ยาลดไข้ ยาลดน้ำมูก ยาแก้ไอ ละลายเสมหะ ผงเกลือแร่สำหรับคนที่มีอาการท้องเสีย กินได้น้อย ร่างกายอ่อนเพลีย หากมีอาการรุนแรง อาจจะพิจารณานอนโรงพยาบาลร่วมกับการรับประทานยาต้านไวรัสไข้หวัดใหญ่ ((oseltamivir)

การป้องกันการเกิดโรคไข้หวัดใหญ่ เนื่องจากเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่จะมีการเปลี่ยนแปลงสายพันธุ์ทุกปีที่ระบาด ดังนั้นเราจึงควรฉีดวัคซีนกระตุ้นทุกปี ปีละ 1 ครั้ง แม้นว่าการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่จะไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ก็สามารถป้องกันภาวะแทรกซ้อนรุนแรงหลังการติดเชื้อได้

ข้อมูลจาก โรงพยาบาลจุฬารัตน์ 9 แอร์พอร์ต

:: ร่วมแสดงความคิดเห็นกับสิ่งนี้

:: เนื้อหาข่าวที่น่าสนใจ