เตรียมรับมือ! โรคระบาดที่มาพร้อมกับหน้าฝน

เตรียมรับมือ! โรคระบาดที่มาพร้อมกับหน้าฝน

ฤดูฝนหรือหน้าฝน อากาศจะค่อนข้างเย็นและมีความชื้นสูง ทำให้เชื้อโรคหลายชนิดเจริญเติบโตได้ดีกว่าปกติ การรู้จักโรคที่มาพร้อมหน้าฝน ทั้งลักษณะการติดต่อ สาเหตุ และอาการ รวมถึงวิธีการดูแลตนเองจึงมีความสำคัญทั้งในแง่ของการป้องกันและรู้เท่าทันโรค ซึ่งโรคที่มักระบาดในหน้าฝนนั้น พอจำแนกได้ดังนี้

1. โรคติดเชื้อระบบทางเดินหายใจ

โรคติดเชื้อระบบทางเดินหายใจที่พบบ่อย มักเกิดจากเชื้อไวรัสและแบคทีเรีย ซึ่งส่วนใหญ่เชื้อจะแพร่ผ่านสารคัดหลั่ง เช่น น้ำมูก น้ำลาย เสมหะ ติดต่อโดยการสัมผัส ไอ จาม โรคที่พบบ่อยได้แก่

-ไข้หวัด (Common cold) เกิดจากเชื้อไรโนไวรัส อาการจะไม่รุนแรงแบบไข้หวัดใหญ่ ผู้ป่วยส่วนมากจะหายได้เองด้วยการกินยาตามอาการ ไม่จำเป็นต้องใช้ยาปฏิชีวนะ แต่ควรพักผ่อนให้เพียงพอ ดื่มน้ำมากๆ และระวังเรื่องไข้สูง

-ไข้หวัดใหญ่ (Influenza) เกิดจากเชื้อไวรัสอินฟลูเอนซา ผู้ป่วยจะมีไข้สูง ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ และอาการในระบบทางเดินหายใจ เช่น ไอ มีน้ำมูก เจ็บคอ ซึ่งอาการจะรุนแรงกว่าไข้หวัด ในบางรายอาจมีอาการแทรกซ้อน เช่น ปอดอักเสบ หูอักเสบ หลอดลมอักเสบ ไซนัสอักเสบ หรือหากติดเชื้อแบคทีเรีย อาจพบโรคแทรกซ้อนที่รุนแรง เช่น สมองอักเสบ เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ ไปจนถึงติดเชื้อในกระแสเลือดซึ่งเสี่ยงต่อการเสียชีวิต

-ปอดอักเสบ เกิดจากการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจส่วนบนทั้งจากเชื้อไวรัสหรือเชื้อแบคทีเรีย มักพบในผู้ที่สุขภาพไม่แข็งแรง มีโรคประจำตัว และผู้สูงอายุ

2. โรคที่มียุงเป็นพาหะ

-ไข้เลือดออก เป็นโรคที่พบได้ตลอดปี แต่ในฤดูฝนจะมีปัจจัยที่ทำให้เกิดการระบาดมากขึ้น คือการมีแหล่งน้ำขังที่เหมาะกับการแพร่พันธุ์ของยุงลาย ระยะแรกผู้ป่วยจะมีไข้สูงได้ถึง 38-40 องศาเซลเซียส นาน 2-7 วัน ร่วมกับอาการหน้าแดง เบื่ออาหาร ซึม บางคนอาจมีจุดเลือดสีแดงขึ้นตามลำตัว แขน ขา หากไม่ได้รับการรักษาอาจเข้าสู่ขั้นวิกฤติ ตับโต อาเจียนปนเลือด หากรุนแรงมากอาจเสียชีวิตได้

-ไข้ซิกา (Zika fever) มียุงลายเป็นพาหะ ผู้ป่วยจะมีอาการไข้ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ปวดศีรษะ พบอาการตาแดงและผื่นตามตัวได้ ไข้ซิกาในหญิงตั้งครรภ์อาจส่งผลต่อพัฒนาการทางสมองของทารกในครรภ์

-ไข้ปวดข้อยุงลาย หรือ ชิคุนกุนยา พาหะนำโรคคือยุงลาย อาการที่สำคัญคือ มีไข้ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ปวดตามข้อ เช่น ข้อมือ ข้อเท้า อาจมีตาแดง ผื่นตามตัวร่วมด้วย ปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนป้องกัน แพทย์จะรักษาตามอาการเป็นหลัก

-ไข้สมองอักเสบเจอี มีพาหะนำโรคคือยุงรำคาญที่พบได้ทั่วไป แต่พบมากในพื้นที่เกษตรกรรมและเลี้ยงสุกร อาการของโรคคือการติดเชื้อที่สมอง มีไข้ ปวดศีรษะ ซึมลง ชัก ไม่รู้สึกตัว และอาจเสียชีวิตได้ ทั้งนี้ ถึงแม้ว่าผู้ป่วยจะรอดชีวิต ก็มักมีความพิการทางสมองหลงเหลืออยู่ ซึ่งโรคนี้ไม่มียารักษาเฉพาะ แต่สามารถป้องกันได้ด้วยวัคซีนป้องกันโรคไข้สมองอักเสบเจอี ที่นิยมใช้ในปัจจุบันเป็นวัคซีนชนิดเชื้อเป็นที่ทำให้อ่อนฤทธิ์

3. โรคที่ติดต่อทางผิวหนังและบาดแผล

-ไข้ดิน หรือ เมลิออยโดสิส (Melioidosis) เกิดจากเชื้อแบคทีเรียที่อยู่ในดิน ในช่วงอากาศแห้งเชื้อนี้จะฝังตัวอยู่ในดิน เมื่อมีฝนตกเชื้อจะขึ้นมาอยู่บนผิวดิน เกษตรกรที่สัมผัสกับดินจึงเป็นกลุ่มเสี่ยง โดยเชื้อจะเข้าสู่ร่างกายทางการหายใจและทางบาดแผล โดยเฉพาะผู้ที่สุขภาพไม่แข็งแรง มีโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน โรคไต หรือดื่มสุราเป็นประจำ อาการของโรคเกิดได้ในหลายระบบ เช่น ปอดอักเสบ ติดเชื้อในกระแสเลือด ติดเชื้อที่ผิวหนัง สำหรับผู้ที่มีความเสี่ยง หากพบว่ามีไข้ หอบเหนื่อย หนาวสั่น ต้องแจ้งให้แพทย์ทราบด้วยว่าตนมีอาชีพเสี่ยง หรือเป็นโรคประจำตัวอะไรบ้าง เพื่อเป็นข้อมูลเพิ่มเติมในการวินิจฉัยโรค

-โรคฉี่หนู หรือ เลปโตสไปโรสิส (Leptospirosis) มีพาหะนำโรคคือหนูและสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมหลายชนิด เชื้อนี้จะอยู่ในระบบทางเดินปัสสาวะของสัตว์ เมื่อสัตว์ปัสสาวะลงในน้ำ คนที่เดินย่ำน้ำหรือทำนาก็มีโอกาสที่เชื้อจะเข้าสู่ร่างกายทางผิวหนัง อาการที่พบคือ มีไข้ ปวดเมื่อย ปวดศีรษะ ในรายที่มีอาการรุนแรงอาจเกิดไตวายเฉียบพลัน หรือหากเชื้อทำให้เกิดการอักเสบของตับและทางเดินน้ำดีจะมีอาการตาเหลืองร่วมด้วย

4. โรคอื่นๆ ที่พบมากในช่วงฤดูฝน ที่มักเกิดจากเชื้อไวรัส เช่น ท้องร่วงเฉียบพลัน เยื่อบุตาอักเสบ โรคมือเท้าปาก ก็เป็นโรคที่ควรระมัดระวัง เช่นกัน โรคติดต่อหลายโรคสามารถป้องกันหรือลดความรุนแรงได้ด้วยการฉีดวัคซีน เช่น วัคซีนไข้หวัดใหญ่ วัคซีนไข้เลือดออก วัคซีนปอดอักเสบ วัคซีนไข้สมองอักเสบเจอี การฉีดวัคซีนนอกจากจะช่วยเรื่องสุขภาพแล้ว ยังช่วยลดความสูญเสียทางเศรษฐกิจ รวมถึงสภาพจิตใจทั้งของตนเองและคนในครอบครัวได้อีกด้วย

นอกจากนี้ เรายังควรดูแลสุขอนามัยให้ดี กินอาหารให้หลากหลาย พักผ่อนให้เพียงพอ ออกกำลังกายเป็นประจำ เพื่อเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้แข็งแรง เพราะเป็นส่วนหนึ่งที่จะทำให้เราไม่ป่วยง่าย หรือหากป่วยก็ช่วยลดความรุนแรงของโรคได้

ข้อมูลจาก โรงพยาบาลพญาไท

:: ร่วมแสดงความคิดเห็นกับสิ่งนี้

:: เนื้อหาข่าวที่น่าสนใจ