เปิดโทษ! เห็ดขี้ควาย ถือเป็นยาเสพติด หากใครเป็นผู้ขาย-ผู้เสพ รับโทษหมด
จากกรณีที่ก่อนหน้านั้น เจ้าหน้าที่ได้จับกุมตัวหนุ่ม อายุ 24 ปี ตามหมายจับ จำนวน 1 หมายจับ ได้แก่ 1.หมายจับศาลอาญา ที่ 120/2567 ลงวันที่ 26 มีนาคม 2567 ซึ่งต้องหากระทำความผิดฐาน มียาเสพติดให้โทษประเภท 5 (เห็ดขี้ควาย) ไว้ในครอบครอง โดยผิดกฎหมาย และ จำหน่ายเสพติดให้โทษประเภท 5 (เห็ดขี้ควาย) โดยผิดกฎหมาย โดยก่อนออกหมายจับได้ดำเนินการสืบสวนและส่งมอบพยานหลักฐานให้แก่พนักงานสอบสวน สน.พญาไท เพื่อดำเนินการออกหมายจับผู้ต้องหา
โดยวันนี้ เราจะพาไปรู้โทษของเห็ดขี้ควายกัน โดย เห็ดขี้ควาย เป็นเห็ดพิษซึ่งขึ้นอยู่ตามกองมูลควายแห้ง สีของเห็ดจะมีสีเหลืองซีด คล้ายสีฟางแห้ง บนหัวของร่มจะมีสีน้ำตาลเข้มจนถึงสีดำบริเวณก้าน (Stalk) บริเวณใกล้ตัวร่มจะมีแผ่นเนื้อเยื่อบางๆ สีขาว แผ่ขยายออกรอบก้าน แผ่นนี้มีลักษณะคล้ายวงแหวน
เห็ดขี้ควาย มีขึ้นอยู่ทั่วไปในแทบทุกภาคของประเทศไทย ลักษณะของเห็ดที่สมบูรณ์และโตเต็มที่ตรงบริเวณหมวกจะมีเส้นผ่าศูนย์กลาง ประมาณ 6.5-8.8 ซม. ความสูงของลำต้นประมาณ 5.5-8 ซม. เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 0.8-1.0 ซม.
ตามข้อมูลจาก กองควบคุมวัตถุเสพติด พบว่ามีผู้นำไปเสพทั้งรูปแบบสดและแห้ง บางครั้งนำมาปรุงเป็นเมนูอาหารหรือเครื่องดื่ม เช่น ไข่เจียวเห็ด และเห็ดปั่นผสมเหล้า หรือคอกเทลสำหรับใช้เสพ ในกลุ่มนักท่องเที่ยวบางกลุ่ม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริเวณอำเภอเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี อย่างไรก็ตามคนทั่วไปมักทราบ และรู้ว่าเห็ดนี้ เป็นเห็ดพิษ รับประทานแล้วจะมึนเมา จึงไม่มีการนำมารับประทาน
เมื่อบริโภคเข้าไปจะทำให้มีอาการเมา เคลิบเคลิ้มและบ้าคลั่งในที่สุด เนื่องจากสาร psilocybine และ psilocine มีฤทธิ์ต่อระบบประสาทอย่างรุนแรง ทำให้เกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียน ประสาทหลอน เห็นภาพแสงสีต่างๆ ลวงตา เช่น เห็นแมงมุมหรือสัตว์ประหลาดลงไปในท้อง รู้สึกมีเข็มมาทิ่มแทงตามตัว ได้ยินเสียงฟ้าร้อง ฟ้าผ่า สับสน ไม่สามารถลำดับทิศทางได้ มีความคิดและอารมณ์เปลี่ยนแปลง มีอาการคล้ายผู้ที่เสพ LSD คนที่ใช้มานานๆ จะเพลินต่อความรู้สึกต่างๆ ร่างกายจะเกิดการต้านยา ต้องเพิ่มขนาดการเสพขึ้นเรื่อยๆ
ขาย หรือ เสพเห็ดขี้ควาย มีโทษตามกฎหมาย
ตามข้อมูลอ้างอิงจาก พระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ. 2564 ประมวลกฎหมายยาเสพติด มาตรา 29 มาตรา 93 มาตรา 104 มาตรา 148 มาตรา 162 ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ระบุชื่อยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 พ.ศ. 2565
สำหรับในประเทศไทย เห็ดขี้ควาย หรือ เห็ดวิเศษ ดอกเห็ด ก้านเห็ด สปอร์ของเห็ด จัดเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 ตามประมวลกฎหมายยาเสพติด มาตรา ๒๙ ประกอบประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ระบุชื่อยาเสพติดให้โทษในประเภท ๕ พ.ศ. 2565
ผู้ใดผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่าย หรือมีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท ๕ หากฝ่าฝืนต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี และปรับไม่เกิน 500,00 บาท ทั้งนี้ ตามมาตรา 93 ประกอบมาตรา 148 แห่งประมวลกฎหมายยาเสพติด ผู้ใดเสพยาเสพติดให้โทษในประเภท ๕ หากฝ่าฝืนต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ทั้งนี้ ตามมาตรา 104 ประกอบมาตรา 162 แห่งประมวลกฎหมายยาเสพติด