จริงไหม! โรคกระเพาะอาหาร ไม่ได้เป็นเพราะกินข้าวไม่ตรงเวลา

จริงไหม! โรคกระเพาะอาหาร ไม่ได้เป็นเพราะกินข้าวไม่ตรงเวลา

เชื่อว่าหลาย ๆ คนจะต้องโตมากับคำสอนของผู้หลักผู้ใหญ่มาตั้งแต่เด็ก หรือแม้แต่อ่านเจอในหนังสือเรียนว่า กินข้าวไม่ตรงเวลา ระวังเป็นโรคกระเพาะ หรือ อย่าอดข้าว เดี๋ยวเป็นโรคกระเพาะ แต่ที่จริงแล้ว โรคกระเพาะอาหาร ไม่ได้มีสาเหตุมาจากการกินอาหารไม่ตรงเวลา ซึ่งนี่อาจจะเป็นความรู้ใหม่สำหรับใครหลาย ๆ คนเลยก็ว่าได้

โรคกระเพาะอาหาร (Gastritis) คือ เป็นโรคที่มีอาการอักเสบหรือระคายเคืองบริเวณเยื่อบุในกระเพาะอาหาร ซึ่งอาการนี้สามารถเกิดขึ้นได้ทั้งแบบระยะเวลาสั้น ๆ รักษาหายได้เพียงกินยาตามแพทย์สั่ง แต่ถ้าเกิดอักเสบแบบเรื้อรัง ก็จะทำให้กระเพาะอาหารเป็นแผล จนเพิ่มโอกาสเสี่ยงที่จะกลายเป็นโรคร้ายแรง อย่างเช่น แผลในกระเพาะอาหารเรื้อรัง มะเร็งกระเพาะอาหาร หรือมะเร็งต่อมน้ำเหลืองบางชนิด

อาการของโรคกระเพาะอาหาร

โดยทั่วไปคือ มีอาการปวดท้องส่วนบน ร่วมกับอาหารไม่ย่อย ท้องอืด จุกเสียด แน่นท้อง เรอบ่อย คลื่นไส้อาเจียนหลังจากกินอาหาร ความจริงแล้วอาการเหล่านี้ไม่ได้ร้ายแรง แต่หากเกิดภาวะแทรกซ้อนจากแผลที่เกิดขึ้นในกระเพาะอาหาร ทำให้กระเพาะบาง กระเพาะทะลุ มีเลือดออกในกระเพาะอาหาร ก็อาจนำไปสู่ภาวะเสียเลือดจนเสียชีวิตได้

สาเหตุของโรคกระเพาะอาหาร

ความเชื่อแต่เดิมของเรา เข้าใจว่าโรคกระเพาะอาหารเกิดขึ้นจากการที่กินอาหารไม่ตรงเวลาหรืออดอาหาร ซึ่งเมื่อถึงเวลาที่เราควรต้องกินอาหาร แต่ในกระเพาะไม่มีอาหาร ทำให้น้ำย่อยที่มีสภาวะเป็นกรดนั้นไปย่อยเอาผนังกระเพาะอาหารแทน จนเกิดการอักเสบ เป็นแผล และกลายเป็นโรคกระเพาะอาหารในที่สุด

แต่ในทางการแพทย์อธิบายว่า สภาพในกระเพาะอาหารจะมีความเป็นกรดสูง ซึ่งร่างกายจะสร้างเยื่อเมือกเคลือบผนังกระเพาะเพื่อทำหน้าที่ป้องกันเยื่อบุกระเพาะอยู่แล้ว แต่สาเหตุที่แท้จริงที่ทำให้เป็นโรคกระเพาะอาหารนั้นมาจากการติดเชื้อแบคทีเรีย เฮลิโคแบคเตอร์ ไพโลไร (Helicobacter pylori) หรือที่เรียกสั้น ๆ ว่า เอช ไพโลไร (H. pylori) เมื่อกระเพาะอาหารติดเชื้อแบคทีเรียเฮลิโคแบคเตอร์ ไพโลไรขึ้นมา ทำให้การหลั่งกรดในกระเพาะอาหาร และเยื่อเมือกที่เคลือบกระเพาะอยู่เกิดความผิดปกติ กระเพาะต้องย่อยอาหารนานขึ้น ผิวกระเพาะอาหารจึงเกิดการอักเสบตามมาด้วย

เมื่อเชื้อแบคทีเรียเฮลิโคแบคเตอร์ ไพโลไร เข้าไปอยู่ในกระเพาะอาหาร เชื้อจะแปรสภาพตัวเองให้มีสภาวะเป็นเบส (ด่าง) ทำให้เชื้อสามารถทนอยู่ในกระเพาะที่มีสภาวะเป็นกรดได้ จากนั้นเชื้อจะไปรวมตัวอยู่บริเวณเยื่อบุกระเพาะอาหาร ซึ่งเป็นบริเวณที่เกิดอาการอักเสบได้ จนทำให้กระเพาะอาหารหลั่งกรดออกมามากขึ้น จนกลายเป็นโรคกระเพาะอาหาร

ซึ่งเชื้อแบคทีเรียเฮลิโคแบคเตอร์ ไพโลไรนี้ สามารถพบปนเปื้อนมากับอาหารและน้ำดื่ม อย่างไรก็ตามไม่ได้พบเจาะจงในอาหารชนิดใดชนิดหนึ่งเป็นพิเศษ โดยเชื้อชนิดนี้เพิ่งได้รับการยืนยันว่ามีความสัมพันธ์กับโรคกระเพาะอาหารเมื่อปี 2005 โดยแพทย์ชาวออสเตรเลีย 2 คน คือ นายแพทย์แบรร์รี่ เจ. มาร์แชล (Barry J. Marshall) และนายแพทย์เจ. โรบิน วาร์เรน (J. Robin Warren) การค้นพบนี้ทำให้แพทย์ทั้ง 2 ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสรีรวิทยาหรือการแพทย์ในปีเดียวกันนั่นเอง ดังนั้น ถ้าพูดถึงคนที่เป็นแผลในกระเพาะอาหาร ประมาณ 70-90 เปอร์เซ็นต์ ล้วนติดเชื้อมาจากแบคทีเรียชนิดนี้

นอกจากนี้ยังมีสาเหตุอื่นที่ถูกระบุว่าทำให้เกิดโรคกระเพาะอาหารได้ด้วยเช่นกัน คือ การติดเชื้อราบางชนิด พฤติกรรมสุขภาพ ทั้งการสูบบุหรี่ การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน รวมถึงการกินยาที่ฤทธิ์กัดกระเพาะ (ยาที่แพทย์สั่งให้กินหลังอาหารทันที) ซึ่งมักเป็นกลุ่มยาแก้อักเสบหรือยาแก้ปวด หรือยาสเตียรอยด์ ที่มีผลทำให้เกิดแผลในกระเพาะอาหารและลำไส้บางลงได้ ซึ่งมีผลต่อความสามารถในการป้องกันกรดที่จะหลั่งออกมาย่อยอาหาร ส่วนความเชื่อที่ว่าการกินอาหารไม่ตรงเวลาหรือการอดอาหารทำให้เกิดโรคกระเพาะนั้น น่าจะมาจากอาการกำเริบ หาก ไม่ว่าจะเป็นการกินอาหารรสจัด กินยาที่กัดกระเพาะ ดื่มแอลกอฮอล์ สูบบุหรี่ รวมถึงกินอาหารไม่ตรงเวลา ในขณะที่เป็นแผลในกระเพาะอาหาร ทำให้น้ำย่อยซึ่งมีสภาพเป็นกรดหลั่งไปโดนบริเวณที่เป็นแผล จึงทำให้มีอาการปวดแสบ จนเข้าใจผิดไปว่าโรคเกิดจากการที่น้ำย่อยในกระเพาะกัดกระเพาะ

การวินิจฉัยโรคกระเพาะอาหาร

ปกติแล้ว หากมีอาการที่สงสัยว่าอาจเป็นโรคกระเพาะอาหาร ก็ควรไปพบแพทย์เพื่อทำการตรวจวินิจฉัยต่อไป ซึ่งเทคโนโลยีการแพทย์ในปัจจุบันจะมีวิธีตรวจอยู่หลายแบบ เช่น

-การตรวจด้วยวิธีกินยา แล้วพ่นลมหายใจ

-ตรวจเลือด

-ตรวจอุจจาระ

-การส่องกล้องตรวจกระเพาะอาหาร เพื่อดูแผลและเก็บเยื่อจากกระเพาะอาหาร

-เอกซเรย์กระเพาะอาหาร

การรักษาโรคกระเพาะอาหาร

การรักษาโรคกระเพาะอาหาร แท้จริงแล้วไม่ได้ซับซ้อนอะไร ส่วนใหญ่แพทย์จะให้ยาฆ่าเชื้อมากิน เช่น ยาคลาริโธรมัยซิน (Clarithromycin) ยาเมโทรนิดาโซล (Metronidazole) หรือยาอะมอกซิซิลลิน (Amoxicillin) ซึ่งถ้าหากกินยาตามแพทย์สั่ง โดยทั่วไปจะรักษาให้หายขาดได้ แต่ถ้าแผลในกระเพาะยังไม่หาย ก็แปลว่ายังมีเชื้อหลงเหลืออยู่ ยิ่งมีสิ่งเร้าไปกระตุ้น ก็ทำให้อาการกำเริบได้ แต่ถ้าหากอาการกระเพาะเป็นแผล แพทย์จะจ่ายยาที่ลดการหลั่งกรด รวมถึงยาที่ช่วยรักษาแผลในกระเพาะอาหารร่วมด้วย

การป้องกันโรคกระเพาะอาหาร

อย่างที่ชี้แจงไปแล้วว่าสาเหตุหลักของโรคกระเพาะอาหารนั้นมาจากเชื้อแบคทีเรียเฮลิโคแบคเตอร์ ไพโลไร ที่ปะปนมากับอาหาร ดังนั้นการกินอาหารที่ถูกสุขลักษณะ เป็นหัวใจสำคัญในการป้องกันโรค อย่างไรก็ตาม ในเมื่อเราไม่อาจรู้ได้ว่าในร่างกายเรามีแบคทีเรียเฮลิโคแบคเตอร์ ไพโลไร อยู่หรือไม่ ก็ควรหลีกเลี่ยงพฤติกรรมการกินอาหารที่จะไปกระตุ้นให้กระเพาะอาหารทำงานผิดปกติ

เพื่อที่จะไม่เป็นการกระตุ้นให้กระเพาะอาหารทำงานผิดปกติ การกินอาหารให้ตรงเวลา และหลีกเลี่ยงอาหารรสจัดก็จะช่วยลดการระคายเคืองในกระเพาะอาหารได้ รวมถึงงดสูบบุหรี งดดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ลดการดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน ที่สำคัญ อย่าซื้อยากินเอง โดยเฉพาะยาที่มีฤทธิ์กัดกระเพาะอย่างรุนแรง

:: ร่วมแสดงความคิดเห็นกับสิ่งนี้

:: เนื้อหาข่าวที่น่าสนใจ