วันเหมายัน คืออะไร? กลางวันสั้น กลางคืนยาวสุดในรอบปี 22 ธ.ค. 66
ตามสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ไดวัน (Winter Solstice) หรือที่คนไทยเรียก ตะวันอ้อมข้าว เป็นวันที่มีเวลากลางคืนยาวที่สุดในรอบปี โดยจะเกิดขึ้นในช่วงประมาณวันที่ 21-22 ธันวาคมของทุกปี ซึ่งในปีนี้จะตรงกับวันที่ 22 ธันวาคม 2566
วันเหมายัน คือวันอะไร
วันเหมายัน (อ่านว่า เห-มา-ยัน) คือ วันที่มีช่วงเวลากลางคืนยาวนานที่สุดในรอบปี ดวงอาทิตย์จะขึ้นทางทิศตะวันออกเฉียงไปทางใต้มากที่สุด และตกลับขอบฟ้าทางทิศตะวันตกเฉียงไปทางใต้มากที่สุด คนไทยเรียกว่า "ตะวันอ้อมข้าว"
เกิดปรากฎการณ์ "เหมายัน" (อ่านออกเสียงว่า เห-มา-ยัน) นี้ เกิดขึ้นจากดวงอาทิตย์เคลื่อนมาในตำแหน่งเฉียงไปทางทิศใต้มากที่สุดในวันเหมายันของแต่ละปี ทำให้มีเวลากลางวันที่สั้นที่สุด และเวลากลางคืนยาวนานที่สุด
สำหรับ "วันเหมายัน" ในปี 2566 ตรงกับวันที่ 22 ธันวาคม ดวงอาทิตย์จะขึ้นเวลาประมาณ 06.36 น. และจะตกลับขอบฟ้าเวลาประมาณ 17.55 น. (เวลา ณ กรุงเทพฯ) รวมระยะเวลากลางวันเพียง 11 ชั่วโมง 19 นาที
นอกจากนี้ วันเหมายัน ยังถือเป็นวันแรกของการเข้าสู่ฤดูหนาวสำหรับประเทศทางซีกโลกเหนือ แต่สำหรับประเทศทางซีกโลกใต้นั้นจะนับเป็นวันแรกที่เข้าสู่ฤดูร้อน สำหรับ "ฤดูกาล" บนโลก เกิดจากแกนโลกเอียงทำมุม 23.5 องศา กับแนวตั้งฉากกับระนาบโคจรของโลกรอบดวงอาทิตย์ ทำให้พื้นที่ต่าง ๆ ทั่วโลกได้รับแสงอาทิตย์ในปริมาณไม่เท่ากัน ส่งผลให้มีอุณหภูมิต่างกัน รวมถึงระยะเวลากลางวันและกลางคืนก็ต่างกันด้วย เหตุนี้ทำให้เกิดฤดูกาลขึ้นบนโลกนั่นเอง สังเกตได้ว่าในฤดูร้อนดวงอาทิตย์จะขึ้นเร็วและตกช้า เวลากลางวันจะยาวกว่ากลางคืน แตกต่างกับฤดูหนาวที่ดวงอาทิตย์จะขึ้นช้าและตกเร็ว เวลากลางคืนจะยาวนานกว่ากลางวัน
ตลอดระยะเวลา 1 ปีที่โลกโคจรรอบดวงอาทิตย์ จะเกิดปรากฏการณ์สำคัญที่เกี่ยวข้องกับการขึ้นและตกของดวงอาทิตย์ทั้งหมด 4 ครั้ง ได้แก่
-วันครีษมายัน (Summer Solstice) เป็นวันที่กลางวันยาวนานที่สุด
-วันเหมายัน (Winter Solstice) เป็นวันที่กลางคืนยาวนานที่สุด
-วันวสันตวิษุวัต (Vernal Equinox) เป็นวันที่มีกลางวัน และกลางคืนยาวนานเท่ากัน
-วันศารทวิษุวัต (Autumnal Equinox) เป็นวันที่มีกลางวัน และกลางคืนยาวนานเท่ากัน
ความเชื่อของวันเหมายัน -ที่กองหินสโตนเฮนจ์ (Stonehenge) อนุสรณ์สถานยุคก่อนประวัติศาสตร์ ตั้งอยู่กลางทุ่งราบซัลลิสเบอร์รี (Salisbury Plain) บริเวณตอนใต้ของเกาะอังกฤษ จะมีผู้คนที่มีความเชื่อที่ถ่ายทอดกันมาตั้งแต่ยุคชาวดรูอิดไปรวมตัวกันเพื่อรับแสงอาทิตย์ของวันที่สู่ฤดูหนาวอย่างเป็นทางการ
-คนจีน “เหมายัน” ถือเป็นช่วงเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ฤดูหนาวที่เป็นมงคล โดยในอดีต คนจีนให้ความสำคัญเสมือนเทศกาลสิ้นปี เรียกว่า เทศกาลตังโจ่ย (วันเปลี่ยนเทศกาลเป็นฤดูหนาว) จะมีการกินขนมที่มีหน้าตาคล้ายบัวลอยเพื่อเพิ่มความอบอุ่นให้แก่ร่างกาย และมีการทำบุญเพื่อความเป็นสิริมงคล
-ขณะที่ความเชื่อของอินเดียนั้น ฤดูหนาว เป็นฤดูของปรโลก ไม่ถือว่าเป็นมงคล เป็นช่วงเวลาที่กลางคืนยาวนาน จึงไม่มีการเฉลิมฉลองใด ๆ แต่จะมีการฉลองเมื่อพระอาทิตย์เริ่มย้ายขึ้นเหนือ เข้าสู่ราศีมังกร ที่เรียกว่า “มกรสงกรานติ” โดยจะมีการทำความสะอาดบ้าน และห้องครัว หรือเล่นว่าวเฉลิมฉลอง
ข้อมูลจาก NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ