สุดหลอน! สาวไทยทายาทนักค้าโบราณวัตถุ เผยเห็นรูปปั้นมันเดินได้ตั้งแต่เด็ก รีบส่งของสะสมคืนกัมพูชา
ทาง New York Times ได้รายงานว่า พิพิธภัณฑ์ Metropolitan Musuem of Art แห่งมหานครนิวยอร์ก เตรียมคืนรูปปั้นโบราณจากไทย 2 ชิ้น และกัมพูชา 14 ชิ้น สู่ประเทศต้นทาง ซึ่งวัตถุทรงคุณค่าทางประวัติศาสตร์เหล่านี้ โยงใยกับพ่อค้าของเก่ารายหนึ่งที่ถูกกล่าวหาว่าค้าของที่ได้มาอย่างผิดกฎหมาย
พ่อค้าคนดังกล่าวชื่อ ดักลาส แลตช์ฟอร์ด (Douglas Latchford) ซึ่งมีชื่อเสียงในวงการสะสมของเก่า เขาถูกตั้งข้อหาเมื่อ 4 ปีก่อน เมื่อถูกต้องสงสัยว่าดำเนินการอย่างเป็นระบบในการขายของเก่าจากกัมพูชาที่ถูกขโมยมาไปยังผู้ซื้อในต่างประเทศ โดยชายผู้นี้ปฏิเสธข้อกล่าวหาว่ามีส่วนในการลักลอบซื้อขายวัตถุเหล่านั้น และเสียชีวิต 1 ปีหลังจากถูกตั้งข้อหา
ในบรรดาสิ่งของโบราณที่จะถูกส่งกลับ มีรูปปั้นโลหะบรอนซ์ ที่ชื่อ "The Bodhisattva Avalokiteshvara Seated in Royal Ease" ซึ่งอยู่ในยุคปลายศตวรรตที่ 10 ถึงต้นศตวรรตที่ 11 นอกจากนั้นยังมีเศียรของรูปปั้นพระพุทธเจ้าสมัยศตวรรษที่ 7 อีกด้วย
รูปปั้นทั้ง 2 ชิ้นนี้ อยู่ในบรรดาวัตถุโบราณ 10 ชิ้นที่ยังให้ผู้คนเข้าชมได้ที่ พิพิธภัณฑ์ Metropolitan Musuem of Art ในนิวยอร์ก ขณะที่ยังอยู่ในขั้นเตรียมการส่งคืนประเทศต้นทาง ครอบครัวแลตช์ฟอร์ด เคยมีเครื่องประดับโบราณอายุหลายร้อยปีจากกัมพูชาจำนวนมาก ซึ่งรวมถึงมงกุฏ โดยได้ส่งของเหล่านั้นกลับไปยังกัมพูชาแล้ว
รายงานข่าวอ้างอิงคำให้สัมภาษณ์ของ นางสาวนวพรรณ เกรียงศักดิ์ บุตรสาวของ ดักลาส แลตช์ฟอร์ด หรือชื่อไทย นายภัคพงษ์ เกรียงศักดิ์ เล่าย้อนหลังความทรงจำเมื่อครั้งวัยเด็กของเธอว่า พ่อของเธอห้ามวิ่งเล่นในที่พักอาศัย อันเต็มไปด้วยโบราณวัตถุ ทุกมุมของอพาร์ตเมนต์ของนายดักลาส ในกรุงเทพฯ เต็มไปด้วยรูปปั้นเทพแบบเขมรที่มีมูลค่ามากเกินกว่าจะเสี่ยงกับการเล่นของเด็ก
ความทรงจำในวัยเด็กว่า เมื่อเธอจะเข้านอน ใบหน้าอันเศร้าสลดของรูปปั้นเป็นภาพที่หลอกหลอนเธอ เธอเคยพูดกับพ่อว่า “(รูปปั้น) พวกมันเดินได้ในตอนกลางคืน”
นางสาวนวพรรณ ยังให้ข้อมูลกับสำนักข่าวดังอีกว่า คอลเล็กชั่นของบิดาอันมีเอกลักษณ์พิเศษ และมีมูลค่ามาก เริ่มมีเค้าลางปัญหาในแง่การจัดเก็บและรักษา ดังนั้น เมื่อทางการกัมพูชาน้อมรับอย่างยินดียิ่ง เธอจึงตัดสินใจส่งมอบโบราณวัตถุของบิดาทุกชิ้นกลับคืนกัมพูชา ซึ่งจะทำให้นักวิชาการสามารถศึกษาและจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์แห่งใหม่ในพนมเปญ
รายงานตั้งแต่ปี 2654 ระบุว่า นางสาวนวพรรณ ตอนนั้นอายุ 49 ปีประกอบอาชีพทนายความ เธอปฏิเสธที่จะกล่าวถึงข้อกล่าวหาต่อบิดา แต่เธอมองคอลเล็กชั่นของบิดาจากแง่มุมเชิงความเคารพนับถือ มากกว่าเป็นเชิงความละโมบ เธออยากให้สิ่งที่คุณพ่อเก็บไว้ ถูกรักษาในที่ที่คนทั่วโลกสามารถสัมผัสและเข้าใจมันได้ ไม่มีที่อื่นซึ่งดีไปกว่ากัมพูชา ที่ซึ่งผู้คนเคารพบูชาวัตถุเหล่านี้ ไม่ใช่แต่เพื่อศิลปะและประวัติศาสตร์ของพวกเขา แต่เพื่อความสำคัญเชิงศาสนาของพวกเขาด้วย