เปิดประวัติ ตำนานคนบ้าปลูกต้นไม้ ดาบวิชัย หลังเสียชีวิตด้วยวัย 77 ปี
จากกรณีที่ เพจ ปลูกต้นไม้ ปลูกธรรมะ โดย พระไพศาล วิสาโล ประธานกรรมการมูลนิธิปลูกต้นไม้ ปลูกธรรมะ ได้โพสต์ไว้อาลัย 'ดาบวิชัย' ร.ต.ต.วิชัย สุริยุทธ หรือ 'ดาบวิชัย คนบ้าปลูกต้นไม้' หลังจากไปอย่างสงบเมื่อวันที่ 25 พ.ย. 2566 ในวัย 77 ปี ใจความว่า ขอไว้อาลัยแด่ พ่อดาบวิชัย ร้อยตำรวจตรี วิชัย สุริยุทธ "คนบ้าปลูกต้นไม้ ที่พวกเรารู้จักกันดี ตลอดชีวิตของท่าน ได้ปลูกต้นไม้ มากกว่าสามล้านต้น และเป็นแรงบันดาลใจให้ คนบ้าปลูกต้นไม้ รุ่นต่อๆ มา แม้จนวินาทีสุดท้าย… พ่อให้บอกทุกคนว่า อย่าเซ่า ชีวิตมีอิหยังให้เฮ็ดอีกหลาย
ประวัติ ดาบวิชัย สุริยุทธ
ร้อยตำรวจตรี วิชัย สุริยุทธ หรือที่รู้จักกันในนาม ดาบวิชัย เป็นที่รู้จักจากการปลูกต้นไม้มากกว่า 2 ล้านต้น ในอำเภอปรางค์กู่ จังหวัดศรีสะเกษ จนสามารถพลิกพื้นป่าที่แห้งแล้งที่สุด กลับมาเป็นพื้นที่ที่อุดมสมบูรณ์
ดาบวิชัย เกิดเมื่อวันที่ 3 สิงหาคม พ.ศ.2489 ในพื้นที่อำเภออุทุมพรพิสัย จังหวัดศรีสะเกษ เป็นบุตรคนที่ 3 ในจำนวนทั้งหมด 6 คน บิดามารดามีอาชีพชาวนา ฐานะทางบ้านจึงยากจน ขณะเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 มารดาก็เสียชีวิต บิดาจึงต้องทำนาคนเดียว และเขาจึงต้องรับจ้างทำงานสารพัด กระทั่งได้ศึกษาต่อที่โรงเรียนศรีสะเกษวิทยาลัย
คนบ้าปลูกต้นไม้
-พ.ศ. 2530 จากข้อมูลของกระทรวงมหาดไทย อำเภอปรางค์กู่เป็นอำเภอที่ยากจนที่สุดในจังหวัดศรีสะเกษ และจังหวัดศรีสะเกษเป็นจังหวัดที่ยากจนที่สุดในประเทศไทย มีการปล้นชิงลักขโมยเป็นคดีความมากมาย ดาบวิชัยในฐานะผู้เติบโตมาในพื้นที่และเจ้าพนักงานสอบสวนรับรู้ถึงปัญหามาตลอด จึงเกิดความคิดที่จะพัฒนาความเป็นอยู่ของชาวบ้านในพื้นที่ให้ดีขึ้น จากความคิดของเขา ทำให้เขาตัดสินใจปลูกต้นไม้ เนื่องจากเห็นว่าจะผลที่จะตามมาจะเป็นผลที่ยั่งยืน เป็นประโยชน์ไปถึงคนรุ่นลูกรุ่นหลาน
-พ.ศ. 2531 เป็นต้นมา ทุกเช้าและหลังเลิกงานของวัน ดาบวิชัยจะขับจักรยานยนต์ ตระเวนปลูกต้นไม้ไปตามพื้นที่ต่าง ๆ ในอำเภอปรางค์กู่ โดยในระยะแรก ในสายตาชาวบ้าน เขาถูกมองว่าเป็นคนบ้า แม้ว่าจะถูกสังคมมองไปในทางเช่นนั้น เขาก็ยังคงปลูกต้นไม้อยู่เรื่อยไป
-พ.ศ. 2541 เป็นต้นมาสังคมเริ่มเห็นผลจากการปลูกต้นไม้ของเขา เกิดโครงการปลูกต้นไม้ในที่สาธารณะเพื่อส่วนรวมเกิดขึ้น ได้แก่ รณรงค์ปลูกต้นยางนา เพื่อเอาไว้สร้างบ้านเรือน รณรงค์ปลูกต้นตาล ซึ่งเป็นพืชสารพัดประโยชน์ รณรงค์ปลูกต้นคูน ต้นไม้ประจำภาคอีสานและประจำชาติไทย และ รณรงค์ให้เปลี่ยนการทำนาปีเป็นไร่นาสวนผสม จนอำเภอปรางค์กู่กลายเป็นอำเภอที่อุดมสมบูรณ์ อีกทั้งต้นไม้ที่เขาปลูกนั้นสามารถสร้างอาชีพให้กับชาวบ้านในอำเภอได้
-พ.ศ. 2543 ประชาคมอำเภอปรางค์กู่ทั้ง 10 ตำบล ได้พร้อมใจกันลงมติให้ใช้ 4 โครงการรณรงค์ดังกล่าวเป็นคำขวัญของ อำเภอปรางค์กู่ ที่ว่า “ปรางค์กู่อยู่ในป่ายางกลางดงตาล บานสะพรั่งดอกคูน
ชีวิตข้าราชการตำรวจ
หลังจบโรงเรียนพลตำรวจ 3 จังหวัดนครราชสีมา ในปี พ.ศ.2511 ได้รับการบรรจุเป็นข้าราชการตำรวจ ประจำสถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองศรีสะเกษ ต่อมาในปี พ.ศ.2513 ย้ายมาประจำสถานีตำรวจภูธรอำเภอปรางค์กู่ กระทั่งในปี พ.ศ.2548 ได้รับพระราชทานยศเป็นกรณีพิเศษเป็น "ร้อยตำรวจตรี" จากการอุทิศตนต่อประเทศชาติ จนเกษียณอายุราชการในปี พ.ศ. 2549 ขณะดำรงตำแหน่งผู้บังคับหมู่งานป้องกันปราบปราม สถานีตำรวจภูธรอำเภอปรางค์กู่
เครื่องราชอิสริยาภรณ์
เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ชั้นที่ 5 เบญจมาภรณ์มงกุฎไทย (บ.ม.) เมื่อปี พ.ศ.2526