บิ๊กโจ๊ก เผย แจ้งข้อหาคนขับรถบรรทุก
วันที่ 9 พ.ย. นายศักดิ์มงคล ทาสะโก (บอย) คนขับรถบรรทุกคันเกิดเหตุเดินทางเข้าพบพนักงานสอบสวน สน.พระโขนงเพื่อให้ปากคำกรณีที่ขับรถบรรทุกดินตกบ่อร้อยสายไฟฟ้า ที่ถนนสุขุมวิท 64/1 ผู้สื่อข่าวพยายามเข้าไปสอบถามว่า รถที่บรรทุกดินออกมาได้มีการชั่งน้ำหนักมาก่อนหรือไม่ แต่นายบอยปฏิเสธไม่ตอบคำถาม และพยายามรีบเดินหลบกลุ่มผู้สื่อข่าวออกไป ก่อนตะโกนบอกสื่อมวลชนว่าไม่ให้สัมภาษณ์ใดๆอีกแล้ว และรีบเดินขึ้นบนชั้นที่ 2 ของสน.ไปทันที
ต่อมา พล.ต.อ.สุรเชษฐ์หักพาลรอง ผบ.ตร. เดินทางมาร่วมประชุมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และร่วมสอบปากคำคนขับรถบรรทุก และติดตามคดีที่เกี่ยวข้องกับส่วยรถบรรทุก
ส่วนรถบรรทุกคันที่เกิดเหตุเจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.พระโขนง ได้นำมาจอดไว้ที่เกาะกลางใต้ทางรถไฟฟ้า และนำผ้าใบมาปิดด้านบนกระบะไว้ เพื่อรอการตรวจสอบและดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายต่อไป
พลตำรวจเอกสุรเชษฐ์ หักพาล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เดินทางมาติดตามความคืบหน้าคดีรถบรรทุกดินตกถนนสุขุมวิทที่ สน.พระโขนง โดยก่อนประชุมร่วมกับคณะทำงาน พลตำรวจเอกสุรเชษฐ์ เปิดเผยว่า ตนต้องมาดูสำนวนการสอบสวนคดีนี้ โดยจะทำเป็นคดีตัวอย่างว่า ถ้ารถบรรทุกน้ำหนักเกิน จะต้องถูกดำเนินคดีอย่างจริงจัง ตัวรถก็จะถูกศาลยึดไว้ ไม่สามารถเอาไปใช้ประกอบอาชีพได้ และจะต้องไล่ดูไปถึงตัวเจ้าของรถว่าเป็นใคร รู้เห็นเป็นใจหรือไม่ในการบรรทุกน้ำหนักเกิน ถ้ารู้เห็นเป็นใจก็ต้องถูกดำเนินคดีด้วย ซึ่งตามกฎหมาย รถลักษณะเดียวกันกับคันที่เกิดเหตุ ต้องบรรทุกไม่เกิน 25 ตัน แต่กรณีที่เกิดขึ้น ชัดเจนว่าบรรทุกเกิน จนทำให้ถนนทรุดตัวลงไป ส่วนกรณีที่ผู้ประกอบการมาตักดินออกและนำกลับไปเทที่ไซต์งานโดยที่ยังไม่ได้ชั่งนั้น ก็ต้องดูว่า รู้อยู่แล้วหรือไม่ว่าบรรทุกเกินแล้วรู้เห็นเป็นใจจะมาตักออก ถ้ารู้ก็มีความผิด ต้องดำเนินคดีไปตามกฎหมาย
และนอกจากสำนวนคดีนี้ สิ่งที่ต้องทำเร่งด่วนทันทีคือการแก้ไขปัญหา ซึ่งปัจจุบันในพื้นที่กรุงเทพมหานคร มีปัญหาหลัก 2 เรื่อง คือ รถบรรทุกน้ำหนักเกิน กับวิ่งนอกเหนือจากเวลาที่กฎหมายกำหนด ซึ่งตนได้สั่งการให้มีการตรวจสอบทั้งหมด เริ่มทันทีตั้งแต่วันนี้ ทุกเขตทั่วกรุงเทพมหานคร รถบรรทุกที่จะวิ่งเข้าพื้นที่กรุงเทพมหานคร ต้องผ่านการชั่งน้ำหนัก และรถบรรทุกที่วิ่งในพื้นที่กรุงเทพมหานครเอง ก็จะต้องถูกชั่งน้ำหนักทันทีที่ขับออกจากไซต์งานก่อสร้างด้วย ซึ่งปัญหาคือโรงพักในพื้นที่นครบาล ไม่ได้มีตาชั่งเหมือนกับโรงพักต่างจังหวัด จึงได้ประสานกับกรมทางหลวง ให้นำตาชั่งออกมาช่วยดำเนินการร่วมกันกับตำรวจ โดยจะต้องวางแผนการทำงานร่วมกัน และจะเชิญผู้ประกอบการทั้งหมดมาพูดคุยว่าการบรรทุกน้ำหนักต้องไม่เกิน
ส่วนประเด็นเรื่องส่วยสติกเกอร์เฉพาะกิจ ตามที่มีการออกมาเปิดเผยกันนั้น ก็จะต้องเข้าไปตรวจสอบว่ามีจริงหรือไม่ หากพบใครที่ละเมิดกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นผู้ประกอบการหรือเจ้าหน้าที่เอง ก็ต้องถูกดำเนินคดี ทั้งนี้ เบื้องต้นยังไม่ได้พูดคุยรายละเอียดกับผู้กำกับการ สน.พระโขนง แต่ตนได้ตรวจสอบสถิติการจับกุมรถบรรทุกน้ำหนักเกินในกรุงเทพมหานครย้อนหลังไป พบว่าไม่มีการจับกุมเลย จับเพียงแค่สิ่งของตกหล่นเท่านั้น ซึ่งสิ่งที่สร้างผลกระทบกับประชาชนมากกว่าคือการบรรทุกน้ำหนักเกิน ตนก็จะเข้ามาตรวจสอบเรื่องนี้ว่าสาเหตุใดที่ทำให้ไม่มีสถิติการจับกุมเลย
วุฒิไกร พิมพ์เงิน ผู้สื่อข่าวนครบาล ทีมข่าวสยามนิวส์